สัญญารักษาความลับ หน้า 2
ข้อสัญญารักษาความลับ
ในบทความที่แล้วเราได้ทราบถึงความสำคัญและลักษณะโดยทั่วไปของสัญญารักษาความลับมาบ้างแล้ว ในบทความนี้ผู้เขียนจะเจาะลึกลงไปถึงข้อสัญญาในแต่ละส่วนของสัญญารักษาความลับว่าแต่ละข้อสัญญาควรมีการกำหนดหรือตกลงในเรื่องใดบ้าง
1. การกำหนดฝ่ายของคู่สัญญาที่มีหน้าที่ห้ามเปิดเผยข้อมูล
สัญญารักษาความลับอาจมีทั้งกรณีที่มีคู่สัญญาฝ่ายเดียวที่มีหน้าที่ห้ามเปิดเผยข้อมูล หรืออาจะมีบางกรณีที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมีหน้าที่ห้ามเปิดเผยข้อมูลซึ่งกันและกัน (Mutual NDA หรือฺ Bilateral NDA)
2. การกำหนดข้อมูลที่เป็นความลับ
โดยปรกติข้อมูลที่ถือเป็นความลับในแต่ละธุรกิจย่อมมีความแตกต่างกันออกไป ดังนั้น ในข้อสัญญารักษาความลับจึงควรมีการกำหนดว่าข้อมูลใดที่ทางบริษัทถือว่าเป็นข้อมูลที่เป็นความลับและห้ามคู่สัญญานำไปเผยแพร่ต่อบุคคลที่สามหรือต่อสาธารณะ ซึ่งข้อมูลที่อาจถูกจัดเป็นข้อมูลที่เป็นความลับ (Confidential Information) อาจเป็นความลับทางการค้า ข้อมูลทางธุรกิจกับคู่ค้า หรือข้อมูลทางธุรกิจอื่นก็ได้
การกำหนดว่าข้อมูลใดเป็นข้อมูลที่เป็นความลับย่อมง่ายต่อการนำสืบในชั้นศาลมากกว่าการกำหนดไว้ในลักษณะกว้างเพราะอาจมีข้อถกเถียงหรือโต้แย้งได้ว่าข้อมูลนั้นไม่ถือเป็นข้อมูลที่เป็นความลับ
3. ข้อยกเว้นของข้อมูลที่เป็นความลับ
อย่าได้แปลกใจหากหัวข้อข้อยกเว้นของข้อมูลที่เป็นความลับนี้ในบางสัญญาถูกเขียนหรือร่างไว้ในบทนิยามของข้อมูลที่เป็นความลับหรืออยู่ในหัวข้อการกำหนดข้อมูลที่เป็นความลับ ซึ่งการจัดวางที่ต่างกันนี้ไม่ได้ให้ผลในทางกฎหมายที่แตกต่างกันอย่างใด (เป็นรสนิยมของผู้ร่างสัญญามากกว่า) โดยปรกติแล้วจะมีข้อมูลบางประเภทที่เป็นที่ยอมรับกันเป็นสากลว่าไม่จัดอยู่ในลักษณะของข้อมูลที่เป็นความลับ และคู่สัญญาแต่ละฝ่ายไม่มีหน้าที่ที่จะต้องรักษาความลับเช่นว่านั้นไว้แต่อย่างใด ข้อยกเว้นนี้ได้แก่
3.1 ข้อมูลที่คู่สัญญาได้มาก่อนเข้าทำสัญญา
3.2 ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยในสาธารณะอยู่แล้ว
3.3 ข้อมูลที่ถูกพัฒนาหรือถูกค้นพบเองโดยคู่สัญญา
3.4 ข้อมูลที่ทางคู่สัญญาได้รับความยินยอมให้เปิดเผยได้
4. หน้าที่ในการห้ามเปิดเผยความลับ
โดยปรกติในข้อสัญญาข้อนี้มักจะกำหนดหน้าที่หลักของคู่สัญญาดังนี้
4.1 ห้ามมิให้เปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับที่ได้รับมาไม่ว่าจะได้รับมาทั้งโดยวาจาหรือโดยลายลักษณ์อักษร แก่บุคคลภายนอก
4.2 กำหนดระดับของหน้าที่ที่คู่สัญญาจะต้องใช้ในการรักษาความลับเพิ่มเติมเข้าไปด้วย เช่น มีหน้าที่รักษาความลับเช่นวิญญูชน หรือหน้าที่รักษาความลับในระดับที่คู่สัญญารักษาความลับของตนเองหรือหน้าที่รักษาความลับในระดับผู้ประกอบวิชาชีพ เป็นต้น
4.3 กำหนดให้ในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายที่มีหน้าที่รักษาความลับจำเป็นต้องเปิดเผยให้บุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้รับจ้างช่วงของตนเอง จะต้องกำหนดให้ผู้รับจ้างช่วงนั้นเข้าทำสัญญารักษาความลับกับผู้ว่าจ้างด้วย
4.4 กำหนดให้มีการทำลายหรือส่งคืนข้อมูลที่เป็นความลับเมื่อสัญญาหลักสิ้นสุด
4.5 กำหนดให้สามารถเปิดเผยข้อมูลให้แก่พนักงานของคู่สัญญาได้เท่าที่จำเป็นจะต้องดำเนินการตามสัญญา
5. ระยะเวลาในการห้ามเปิดเผยข้อมูล
ระยะเวลาในการห้ามเปิดเผยข้อมูลอาจขึ้นอยู่กับระยะเวลาของกิจการที่เรากำลังเจรจาหรือได้ทำสัญญากับคู่สัญญา เช่น จ้างบริษัท IT มาดูแลระบบเป็นระยะเวลา 1 ปี ข้อกำหนดในการห้ามเปิดเผยความลับอาจจะกำหนดเป็น 1 ปีเท่ากับอายุสัญญาหลักก็ได้ หรืออาจกำหนดเป็นระยะเวลาหนึ่งหลังสัญญาหลักสิ้นสุดก็ได้หากข้อมูลนั้นมีความสำคัญมาก เช่น กำหนดให้ห้ามเปิดเผยความลับเป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่สัญญาจ้างสิ้นสุด
6. บทเบ็ดเตล็ด
ในบทเบ็ดเตล็ดนี้มักจะไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ตามสัญญารักษาความลับโดยตรง แต่อาจเป็นข้อสัญญาทั่วไปที่พบในทุกสัญญา เช่น การกำหนดวิธีการเยียวยาหรือค่าเสียหาย การแยกส่วนของข้อสัญญาที่เป็นโมฆะ กฎหมายที่ใช้บังคับ เป็นต้น
อ่านบทความเพิ่มเติม คดีแพ่ง คลิก!
ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีแพ่งหรือ จ้างทนายคดีแพ่ง คลิก!