มรดกพระ

มรดกพระภิกษุ

แม้ว่าข้อกำหนดในพระธรรมวินัยนั้น ให้ผู้เป็นภิกษุพึงเลี่ยงที่จะสะสมไว้ซึ่งทรัพย์สิน แต่ทั้งนี้ในความเป็นจริงการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ก็ย่อมมีทรัพย์สินเข้ามาให้เก็บรักษาไว้เป็นธรรมดา มากบ้างน้อยบ้างตามแต่ความเป็นไป

มรดกพระ กฎหมายมาตรา 1623

เมื่อผู้มีทรัพย์ถึงแก่กรรม ทรัพย์ที่ตนเคยมีก็กลายเป็นมรดก ซึ่งจะให้แก่ทายาทผู้รับมรดก หรือให้แก่ผู้รับพินัยกรรม กรณีของพระภิกษุนั้น เมื่อมรณภาพไป จะแตกต่างกับบุคคลธรรมดา ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้วางหลักไว้ในมาตรา 1623 ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม เหตุที่กฎหมายกำหนดเช่นนี้ เพราะหากพระภิกษุสงฆ์รูปนั้นมีความประสงค์ที่จะยกทรัพย์ของตนให้แก่ใคร ก็ย่อมทำได้ตามหลักสิทธิเสรีภาพ แต่หากไม่ประสงค์จะยกให้แก่ใคร ทรัพย์นั้นย่อมสมควรตกแก่วัดตามครรลอง

ทรัพย์ในข้างต้นจะต้องเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยระหว่างถือสมณเพศ ไม่ว่าจะได้มาโดยการรับการให้ หรือโดยมรดก แต่ไม่รวมไปถึงทรัพย์ที่ได้รับมาก่อนหน้าที่จะบวช ดังคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 273/2475

เมื่อทรัพย์นั้นเป็นของวัดตามกฎหมายแล้ว แม้ยังมิได้ทำการโอน บุคคลอื่นที่มิได้มีสิทธิในการรับมรดกนั้นก็มิอาจยกเอาการครอบครองปรปักษ์โดยถือเอาอายุความ 10 ปี มิได้ เพราะถือเป็นที่ดินของวัด ส่วนกรณีพระภิกษุรูปนั้นมีหนี้สินอยู่ ทรัพย์มรดกจะต้องนำออกชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นก่อน ที่เหลือจึงจะตกเป็นของวัด

ทรัพย์ที่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 1623 ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่จะมีสิทธิเข้าไปขอจัดการมรดกของทรัพย์ส่วนนี้ได้นั้นคือวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น โดยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก ซึ่งต้องบรรยายถึงทรัพย์มรดกว่าได้มาเมื่อใด ถือเป็นทรัพย์ที่ได้มาในระหว่างครองสมณหรือไม่

ทรัพย์อื่นอันมิใช่ทรัพย์มรดก เช่น เงินบริจาคที่ได้มาจากการทำศพของผู้ตายซึ่งเป็นพระภิกษุนั้น หากผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรม มิได้มอบหมายให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการศพ จะต้องนำมาตรา 1649 มาปรับใช้ ดังคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2157/2561

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีมรดก คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีมรดกหรือ จ้างทนายคดีมรดก คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด