การหย่ากับคู่สมรสต่างชาติ

หย่ากับต่างชาติ

หลายคนที่มีความรักอาจมองว่าการแต่งงานคือบทสรุปของความรัก แต่แท้ที่จริงแล้วการแต่งงานนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตคู่ที่แท้จริง เมื่อคนสองคนได้ใช้ชีวิตร่วมกันแล้ว ปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามา ทั้งเรื่องของการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ทัศนคติ คนรอบข้างในครอบครัว หรือสิ่งอื่นใดที่อาจทำให้เราเริ่มตระหนักว่าอยากได้โอกาสกลับไปเป็นโสดอีกครั้ง

ถ้าคู่สมรสทั้งสองฝ่ายเป็นบุคคลสัญชาติไทย ก็สามารถใช้กระบวนการหย่าแบบปกติได้ กล่าวคือ หากสองฝ่ายยินยอมที่จะหย่า ก็พากันไปจดทะเบียนหย่าที่งานทะเบียนครอบครัว ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขต กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมที่จะหย่าก็ใช้การดำเนินคดีทางศาลได้หากมีเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516

หย่าร้าง

แต่สำหรับคู่สมรสที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นบุคคลสัญชาติอื่น หากประสงค์จะหย่าโดยความยินยอมแล้วมีประเด็นที่ต้องพิจารณาและระเบียบวิธีที่อาจแตกต่างกันออกไป พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายได้วางหลักไว้ในมาตรา 26 ว่า การหย่าโดยความยินยอมย่อมสมบูรณ์ ถ้ากฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้กระทำได้ ซึ่งแน่นอนว่ากฎหมายไทยยอมให้คู่สมรสหย่ากันได้ แต่บางประเทศกฎหมายของชาตินั้น ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ ที่กำหนดให้คู่สมรสต้องใช้อำนาจทางศาลในการหย่าเท่านั้น ถือเป็นการขัดกันของกฎหมายไทยกับกฎหมายชาตินั้นในเรื่องของการหย่าโดยความยินยอม จึงต้องนำมาตรา 26 มาพิจารณา นั่นแปลว่าหากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นบุคคลสัญชาติที่กฎหมายห้ามหย่าด้วยความยินยอม ก็ไม่สามารถจดทะเบียนหย่าในไทยได้ แต่สามารถฟ้องหย่าต่อศาลไทยได้หากเข้าเหตุหย่า

หากคู่สมรสเป็นบุคคลสัญชาติใดที่กฎหมายประเทศนั้นเปิดช่องให้หย่าโดยความยินยอมได้ ก็สามารถพากันไปจดทะเบียนหย่าได้ หากได้จดทะเบียนสมรสไว้ในประเทศไทยแล้ว ก็สามารถจดทะเบียนหย่าได้ทันที แต่หากเป็นการจดทะเบียนสมรสโดยกฎหมายต่างประเทศ โดยมิได้จดบันทึกทะเบียนครอบครัวในประเทศไทย จำเป็นต้องนำหลักฐานการสมรส พร้อมรับรองคำแปล เข้าบันทึกในทะเบียนครอบครัวถึงสถานะการสมรส เมื่อเรียบร้อยแล้วจึงจดทะเบียนหย่าได้ ตามหลักของพระราชบัญญัติทะเบียนครอบครัว มาตรา 17

ส่วนการฟ้องหย่าคู่สมรสชาวต่างชาตินั้น กฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายจะต้องยอมให้หย่าได้ ดังหลักของพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย มาตรา 27 หากเป็นชาติที่กฎหมายไม่ยอมให้หย่า เช่น ฟิลิปปินส์ หรือ วาติกัน ศาลไทยก็ไม่อาจพิพากษาให้หย่ากันได้ หากไม่มีเหตุต้องห้ามตามกฎหมายนั้น การฟ้องหย่าคู่สมรสชาวต่างชาติในไทย ก็ใช้เหตุหย่าตามกฎหมายไทย ถ้ามีบุตร อำนาจระหว่างบิดามารดาและบุตร ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบิดา ดังที่วางหลักไว้ในมาตรา 30

สินสมรสจากการหย่า

ในเรื่องของสินสมรสนั้น ทรัพย์ระหว่างกันให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติแห่งสามี เว้นแต่ทรัพย์นั้นเป็นอสังหาริมทรัพย์ก็ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ หากมีการเรียกร้องให้ชำระค่าเลี้ยงดู ให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลที่ถูกเรียกร้องให้เลี้ยงดู ตามมาตรา 36 ของกฎหมายฉบับเดียวกัน ซึ่งมีความเหมาะสมแล้วเนื่องจากการเลี้ยงดูนั้นยึดหลักฐานานุรูปของผู้ถูกเรียกร้องให้เลี้ยงดูเป็นหลัก จึงควรบังคับตามเงื่อนไขแห่งกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น

แม้ว่าการหย่ากับบุคคลสัญชาติอื่นจะมีข้อพิจารณาและขั้นตอนที่มากกว่าปกติก็ตาม แต่ก็สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย ดังนั้นหากพิจารณาแล้วมีความจำเป็นต้องหย่าจริงก็สามารถปรึกษาทนายความเพื่อดำเนินการตามความเหมาะต่อไป

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีครอบครัว คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีครอบครัวหรือ จ้างทนายคดีครอบครัว คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด