เขียนภาพเลียนแบบ

เขียนภาพเลียนแบบถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่

ในทางศิลปกรรม กว่าศิลปินจะรังสรรค์ผลงานมาได้นั้น ต้องฝึกฝนทั้งทักษะการวาด การใช้สี การใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศาสตร์ของภาพ แสงและเงา รวมไปถึงความคิดสร้างสรรค์ที่จะนำเสนออารมณ์และความหมายผ่านทางงานศิลปะชิ้นนั้น

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537

นี่เป็นเหตุผลที่ศิลปกรรมถือเป็นงานสร้างสรรค์แขนงหนึ่งที่ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอันควรได้รับการคุ้มครอง โดยในประเทศไทย งานศิลปกรรมนั้นได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 โดยเริ่มได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 8 หากมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ คือ การทำซ้ำดัดแปลง และการเผยแพร่ต่อสาธารณชน

ในวงการศิลปะนั้น การนำงานศิลปกรรมของศิลปินอื่นมาเป็นแรงบันดาลใจเพื่อทดลองทำตามและฝึกฝน หรือกระทั่งการนิยมชมชอบในงานศิลปกรรมนั้นจนอยากที่จะทำตาม ถือเป็นเรื่องปกติและยอมรับได้ หากแต่ว่าโดยมารยาทแล้ว จะไม่นำงานเหล่านั้นไปใช้ในทางพาณิชย์หรือเผยแพร่ต่อสาธรณชนโดยอ้างว่าเป็นผลงานตน เพราะนอกจากอาจเป็นการรบกวนสิทธิ์ของเจ้าของงานศิลปกรรมนั้นแล้ว ยังถือเป็นการกระทำอันควรอับอายของตัวศิลปินที่ได้ลอกเลียนอีกด้วย

ทว่าในโลกแห่งความเป็นจริงที่ปุถุชนต่างใฝ่หาความร่ำรวย มีการนำผลงานจิตรกรรมของศิลปินอื่นมาเลียนแบบและหารายได้จากงานนั้นมีปรากฎให้เห็นอยู่มาก โดยอ้างว่ามิได้เป็นการลอกเลียนแบบ หากแต่เป็นการนำผลงานต้นฉบับมาเป็นแรงบันดาลใจก็สุดแต่จะกล่าวไป ซึ่งทั้งนี้การลอกเลียนแบบงานจิตรกรรมมีทั้งเหมือนมาก เหมือนน้อย หรือดัดแปลงไปให้ต่างจากเดิม จึงมีข้อสงสัยว่าการเลียนแบบในระดับใดจึงถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์

ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ให้ความหมายของงานจิตรกรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปกรรมไว้ในมาตรา 4 ได้แก่ งานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วยเส้น แสง สี หรือสิ่งอื่น อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ลงบนวัสดุอย่างเดียวหรือหลายอย่าง

การดัดแปลงภาพ

อีกคำหนึ่งที่ควรนำมาพิจารณาในเรื่องนี้คือ “การดัดแปลง” ซึ่งในมาตราเดียวกันนี้ได้ให้ความหมายของการดัดแปลงเกี่ยวกับงานศิลปกรรม โดยวางหลักว่า “ทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม หรือจำลองงานต้นฉบับในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้หมายความรวมถึงเปลี่ยนงานที่เป็นรูปสองมิติหรือสามมิติให้เป็นรูปสามมิติหรือสองมิติ หรือทำหุ่นจำลองจากงานต้นฉบับ”

เมื่อเปรียบเทียบกับการเลียนแบบภาพจิตรกรรมที่ทำกันอยู่นั้นในมุมมองของการดัดแปลง คงต้องพิจารณาว่า การกระทำนั้นเป็นการจำลองต้นฉบับในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่หรือไม่ หากเป็นการจับสเกลลอกเลียนแบบเกือบทุกจุด ลงสีตามต้นฉบับ แล้วจึงเปลี่ยนเล็กน้อยก็คงถือได้ว่าเป็นการดัดแปลง

แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่นำภาพจิตรกรรมต้นฉบับมาวางเป็นแบบแล้ววาดตาม ถือเป็นงานที่ทำขึ้นมาใหม่ จึงไม่เข้าความหมายของการดัดแปลงตามกฎหมายนี้ ดังนั้นแม้จะนำงานจิตรกรรมที่ลอกเลียนแบบด้วยวิธีการดังกล่าว เผยแพร่ต่อสาธารณชน หรือนำไปใช้ในทางพาณิชย์ แม้ว่าจะผิดมารยาทเพียงใด ก็ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ได้

แม้ว่าการลอกเลียนแบบงานจิตรกรรมในระดับที่เป็นแรงบันดาลใจไม่ถึงขนาดจับวางแม้นำไปใช้ในทางพาณิชย์จะไม่เป็นความผิดตามกฎหมายก็ตาม แต่ผู้ที่กระทำก็ควรสำนึกว่าการลอกเลียนดังกล่าวเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและไม่ควรกระทำ เพื่อเป็นบรรทัดฐานที่ดีให้กับสังคม

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีอาญา คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีอาญาหรือ จ้างทนายคดีอาญา คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด