ภาระจำยอม ไม่จดทะเบียนมีผลอย่างไร
ภาระจำยอม ไม่จดทะเบียนมีผลอย่างไร ภาระจำยอมที่มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย ต้องจดทะเบี
ปัญหาโลกแตกของคนไม่โสด ถ้าคู่สมรสของเราไม่ว่าจะสามีหรือภริยาเสียชีวิตไปทรัพย์สินจะต้องแบ่งอย่างไร ใครมีสิทธิในทรัพย์สินใดกี่ส่วน พ่อแม่พี่น้องของสามี/ภริยาที่เสียชีวิตจะมีสิทธิแบ่งมรดกด้วยไหม สารพันคำถามเมื่อตอนดูซีรีเกาหลีแต่ไม่เคยมีคำตอบ วันนี้เราจะตอบทุกข้อสงสัย!!
ขั้นตอนที่หนึ่ง พิจารณาว่าคู่สมรสที่เสียชีวิตมีทรัพย์มรดกอะไรบ้าง และ
ขั้นตอนที่สอง พิจารณาว่าทายาทใดบ้างที่มีสิทธิได้รับมรดก
1. พิจารณาว่าคู่สมรสที่เสียชีวิตมีสินส่วนตัวเท่าไร
2. พิจารณาว่าคู่สมรสที่เสียชีวิตมีสินสมรสเท่าไรแล้วหารครึ่ง
3. นำข้อ 1+2 จะได้เป็นทรัพย์มรดกที่แท้จริงของคู่สมรสที่เสียชีวิต
ตัวอย่าง A สมรสกับ B โดยก่อนสมรส A มีทรัพย์สินส่วนตัว 3 ล้านบาท ภายหลังสมรส A และ B มีเงินที่ร่วมกันทำมาหาได้ระหว่างสมรสอีก 10 ล้านบาท หาก A ตาย ทรัพย์ที่จะถือเป็นทรัพย์มรดกจะมีดังนี้
1. ทรัพย์สินส่วนตัว 3 ล้านบาทก่อนสมรส
2. สินสมรสที่นำมาแบ่งครึ่ง 5 ล้านบาท (10 ล้านบาทหารสอง)
3. ดังนั้น A จะมีทรัพย์มรดกทั้งสิ้น 3 ล้านบาท + 5 ล้านบาท = 8 ล้านบาท (ข้อ 1+ ข้อ 2)
** อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นกรณีทั่วไปที่ไม่ได้มีความซับซ้อนเท่านั้น ในบางกรณีที่มีความซับซ้อนโปรดสอบถามทนายของท่านเพิ่มเติม เช่นมีการทำสัญญาก่อนสมรส **
1. พิจารณาว่ามีการทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้ใครหรือไม่
หากเจ้ามรดก (คู่สมรสที่เสียชีวิต) มีการทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ผู้รับพินัยกรรมคนใดไว้ ก็ต้องเป็นไปตามพินัยกรรมนั้น ถ้ายกทรัพย์มรดกเพียงบางส่วนให้ ส่วนที่เหลือก็ตกแก่ทายาทโดยธรรมในขั้นตอนถัดไป แต่ถ้ายกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้รับพินัยกรรม ทายาทโดยธรรมก็จะไม่มีสิทธิได้รับมรดกอีกเลย (ไม่ต้องพิจารณาขั้นถัดไปแล้ว…ไม่เหลืออะไรแล้ววว)
ตัวอย่าง
1.1 จากตัวอย่างแรก หาก A ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ C จำนวน 3 ล้านบาท เช่นนี้ C จะได้ไปแน่นอน 3 ล้านบาท และส่วนที่เหลืออีก 5 ล้านบาทก็จะไปแบ่งให้ทายาทโดยธรรมตามขั้นตอนถัดไป
1.2 กรณีกลับกัน หาก A ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ C จำนวน 8 ล้านบาท เช่นนี้ C จะได้ไป 8 ล้านบาท ส่วนทายาทโดยธรรมจะไม่ได้รับมรดกใดเลย เพราะทรัพย์มรดกถูกแบ่งตามพินัยกรรมจนสิ้นแล้ว
2. พิจารณาลำดับของทายาทโดยธรรม
โดยปรกติทายาทโดยธรรมมี 6 ลำดับ คือ
2.1 ผู้สืบสันดาน
2.2 บิดามารดา
2.3 พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
2.4 พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน
2.5 ปู่ ย่า ตา ยาย
2.6 ลุง ป้า น้า อา
ซึ่งโดยปรกติแล้วเราจะใช้หลักญาติสนิทตัดญาติห่าง คือ หากมีทายาทลำดับบนเหลืออยู่ ทายาทในลำดับล่างจะไม่ได้รับมรดก เพราะถือเอาตามความสัมพันธ์ทางสายโลหิตที่ใกล้ชิดกับเจ้ามรดกมากที่สุด (ยกเว้นลำดับ 2.1 และ ลำดับ 2.2 สามารถรับมรดกร่วมกันได้โดยไม่ตัดกันตามกฎข้างต้น)
ตัวอย่าง
จากตัวอย่างที่ 1.1 หาก A มีลูก 1 คนและมีพี่น้อง 2 คน เช่นนี้ ทรัพย์มรดกที่เหลือจำนวน 5 ล้านบาทจะถูกแบ่งให้แก่ลูกของ A เท่านั้น เพราะถือเป็นทายาทลำดับชั้นบนสุด เมื่อมีทายาทลำดับชั้นบนสุดอยู่ ทายาทลำดับล่างย่อมไม่มีสิทธิได้รับมรดก
แต่หาก A มีลูก 1 คน และมีบิดาที่ยังมีชีวิตอยู่อีก 1 คน เช่นนี้ ทรัพย์มรดกนั้นจะตกแก่ลูกและบิดาของ A คนละครึ่ง เนื่องจากทายาทลำดับ 2.1 จะไม่ตัดลำดับ 2.2 ออก เพราะถือว่ามีความใกล้ชิดกับเจ้ามรดกพอกันทั้งสองลำดับ
เมื่อถึงจุดนี้ ผู้อ่านบางท่านเริ่มสงสัย เริ่มกระวนกระวาย อ้าววว แล้วคู่สมรสหายไปจากผังลำดับทายาทโดยธรรมได้ยังไง แล้วจะยังได้รับมรดกไหม!!?
คำตอบคือ ยังได้รับมรดกอยู่!! โดยคู่สมรสนี้ถือเป็นทายาทในลำดับชั้นพิเศษ (ไหน ๆ ก็เป็นโซลเมทกันมานาน กฎหมายเลยจัดชั้นพิเศษให้เลย)
ที่ว่าพิเศษนี้พิเศษยังไง? ก็พิเศษตรงที่คู่สมรสจะไม่ถูกตัดและไม่ตัดทายาทโดยธรรมลำดับใดออกเลยนั่นเอง แปลว่าเข้าไปขอแบ่งส่วนกับทายาทได้ทุกลำดับนั่นเอง!! โดยมีวิธีคิดส่วนแบ่งของคู่สมรสดังนี้
เคสที่ 1 คู่สมรส vs บุตร (ทายาทลำดับที่ 1)
กรณีนี้คู่สมรสได้ส่วนแบ่งเสมือนเป็นบุตรคนหนึ่งนั่นเอง เช่น เจ้ามรดกมีลูก 2 คนและคู่สมรส มรดกก็จะถูกแบ่งกันคนละ 1/3 (เสมือนมีบุตร 3 คน)
เคสที่ 2 คู่สมรส vs บุตร + บิดามารดา (ทายาทลำดับที่ 1 และ 2)
กรณีนี้จะเหมือนเคสที่ 1 คือ ทั้งคู่สมรสและบิดามารดาจะถูกถือเสมือนเป็นบุตรคนหนึ่ง เช่น เจ้ามรดกมีลูก 2 คน คู่สมรส บิดา และมารดา มรดกจะถูกแบ่งกันคนละ 1/5 (ลูก 2 + บิดา + มารดา + คู่สมรส)
เคสที่ 3 คู่สมรส vs บิดามารดา (ทายาทลำดับที่ 2)
กรณีนี้คู่สมรสจะได้ไปครึ่งหนึ่งเสมอ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งบิดาและมารดานำไปแบ่งกันเอง เช่น เจ้ามรดกมีบิดา มารดา และคู่สมรส มรดกจะถูกแบ่งให้คู่สมรส 1/2 ให้บิดา 1/4 และมารดา 1/4
เคสที่ 4 คู่สมรส vs พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน (ทายาทลำดับที่ 3)
กรณีนี้จะเหมือนเคสที่ 3 คือ คู่สมรสได้ไปครึ่งหนึ่งเสมอ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งนำไปแบ่งกันคนละส่วนตามจำนวนพี่น้องร่วมบิดามารดาที่เหลืออยู่
เคสที่ 5 คู่สมรส vs พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน (ทายาทลำดับ 4)
กรณีนี้คู่สมรสจะได้ไปสองในสามส่วนเสมอ ส่วนอีกหนึ่งในสามนำไปแบ่งคนละส่วนตามจำนวนพี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน
เคสที่ 6 คู่สมรส vs ปู่ ย่า ตา ยาย (ทายาทลำดับที่ 5)
กรณีนี้คู่สมรสจะได้ไปสองในสามส่วนเสมอ ส่วนอีกหนึ่งในสามนำไปแบ่งคนละส่วนตามจำนวนปู่ ย่า ตา ยาย ที่ยังเหลืออยู่
เคสที่ 7 คู่สมรส vs ลุง ป้า น้า อา (ทายาทลำดับที่ 6)
กรณีนี้คู่สมรสจะได้ไปสองในสามส่วนเสมอ ส่วนอีกหนึ่งในสามนำไปแบ่งคนละส่วนตามจำนวนลุง ป้า น้า อา ที่ยังเหลืออยู่
ภาระจำยอม ไม่จดทะเบียนมีผลอย่างไร ภาระจำยอมที่มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย ต้องจดทะเบี
ผู้จัดการมรดกสามารถขายที่ดินได้ไหม #ก่อนจัดการมรดกต้องรู้ผู้จัดการมรดกสามารถขายท
คดีอุบัติเหตุ ดำเนินคดีอะไรได้บ้าง และผู้ฟ้องต้องพิสูจน์คดีอย่างไร หากเกิดอุบัติ
ถ้าฟ้องบังคับจำนองเกิน 10 ปี ผลเป็นอย่างไร ถ้าศาลพิพากษาแล้ว ปรากฏว่าเจ้าหนี้ไม่