กฎหมายยาเสพติดใหม่

กฎหมายยาเสพติดใหม่ ตอน การขอใช้สิทธิตามกฎหมายใหม่

คดีที่เกี่ยวเนื่องกับยาเสพติดและสิ่งเสพติดนั้น ก่อนวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ได้มีบทบัญญัติกำหนดความผิดและโทษ รวมถึงวิธีการทางปฎิบัติต่างๆไว้ในหลายกฎหมายดังนี้ 1.พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522, 2.พระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์และจิตประสาท พ.ศ.2559, 3.พระราชบัญญัติป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ.2533, 4.พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534, 5.พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 และ 6.พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 เป็นการบังคับใช้หลายกฎหมายและกระจัดกระจายกัน จึงทำให้ผู้ร่างกฎหมายได้รวบรวมกฎหมายทั้ง 6 ฉบับดังกล่าวและตรากฎหมายมาบังคับใช้ใหม่เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเรียกว่า “ประมวลกฎหมายยาเสพติด”

กฎหมายยาเสพติดใหม่

โดยสาระสำคัญของประมวลกฎหมายยาเสพติดนอกจากที่ตราขึ้นเพื่อรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวกับความผิดยาเสพติดทั้ง 6 ฉบับมารวบรวมเป็นฉบับเดียวแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของข้อกฎหมายหลายประการซึ่งทางเราจะขออธิบายในบทความต่อไป แต่ในขณะนี้เมื่อมีกฎหมายใหม่บัญญัติแก้ไข และตามประมวลกฎหมายยาเสพติดนั้นกำหนดโทษสำหรับความผิดต่างๆไว้ต่ำกว่าความผิดตามกฎหมายเก่าอันได้แก่

1. ความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติด เช่น หากเป็นความผิดฐานมียาเสพติดประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย (เช่น ยาไอซ์ ฯลฯ) ตามกฎหมายเดิม(พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522)มีระวางโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต แต่ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดนี้ ความผิดนั้นมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี และปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท
2. ความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ เช่น หากมีความผิดฐานจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 (เช่น ยาเค ฯลฯ) ตามกฎหมายเดิม(พระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์และจิตประสาท พ.ศ.2559) มีระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 4 ปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 400,000 บาทถึง 2,000,000 บาท แต่ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดนี้ ความผิดนั้นมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 700,000 บาท

กรณีเช่นนี้ ตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 นั้นถือว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังกระทำความผิด เช่นนี้ตามกฎหมายได้บัญญัติให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณ โดยพิจารณาได้ว่าตามกฎหมายเก่าหรือกฎหมายใหม่ส่วนใดเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดกว่าให้ใช้ส่วนนั้น

ส่วนเป็นกรณีโทษที่ศาลตัดสินนั้น ถ้าเป็นความผิดที่เป็นโทษที่ศาลพิพากษาให้ประหารชีวิต แต่โทษที่บัญญัติภายหลังไม่ถึงโทษประหารชีวิต ให้งดการประหารชีวิตไว้และเปลี่ยนโทษสูงสุดตามกฎหมายใหม่นั้นแทนโทษประหารชีวิต
และถ้าโทษที่กำลังรับตามคำพิพากษา(ที่ไม่ใช่โทษประหารชีวิต)นั้นหนักกว่าโทษที่กำหนดในภายหลัง ทางผู้กระทำผิดเองมีสิทธิขอให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ได้ และศาลมีอำนาจพิจารณาให้รับโทษต่ำกว่าโทษขั้นต่ำที่กฎหมายบัญญัติภายหลังได้ หากผู้กระทำรับโทษมาบ้างแล้วและเป็นดุลพินิจศาล หรืออาจปล่อยตัวผู้กระทำผิดไปก็ได้ หากศาลเห็นว่าโทษที่ได้รับมาเป็นการเพียงพอแล้ว ซึ่งก็เป็นดุลพินิจศาลเช่นกัน

สรุป คือสำหรับความผิดยาเสพติดนั้น หากอยู่ในระหว่างพิจารณา ศาลจะใช้ข้อกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณลงโทษจำเลย และถ้ามีการพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว ถ้าเป็นโทษที่พิพากษาให้ประหารชีวิตแต่โทษที่บัญญัติภายหลังไม่ถึงโทษประหารชีวิต ให้งดการประหารชีวิตไว้และเปลี่ยนโทษสูงสุดตามกฎหมายใหม่นั้นแทนโทษประหารชีวิต และถ้าโทษที่ศาลพิพากษาไม่ใช่โทษประหารชีวิตแล้ว ผู้กระทำมีสิทธิขอให้ศาลปรับปรุงโทษใหม่ได้หากถ้าโทษที่กำลังรับตามคำพิพากษานั้นหนักกว่าโทษที่กำหนดใหม่ในภายหลัง

เช่นนี้แล้ว ตัวผู้กระทำความผิดหรือผู้ต้องขัง ควรทราบถึงสิทธินี้ และควรขอเพื่อสำหรับความผิดยาเสพติดที่ได้รับโทษประหารชีวิตหรือได้รับโทษเกินกว่าโทษที่กฎหมายใหม่บัญญัติขึ้น

ขอบคุณที่ติดตาม หากบทความนี้มีประโยชน์โปรดแชร์เพื่อเป็นความรู้ต่อไป

บทความกฎหมายล่าสุด