การฆ่าโดยเจตนา และการฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน มีอัตราโทษอย่างไร ?
การฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน มีอัตราโทษอย่างไร
โทษตามประมวลกฎหมายอาญา ฆ่าคนตายเหมือนกัน แต่เจตนาฆ่าต่างกัน อัตราโทษจึงไม่เหมือนกัน การฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จะมีลักษณะความผิด และอัตราโทษเป็นอย่างไร ซึ่งต้องพิจารณาตามข้อกฎหมายประกอบข้อเท็จจริงในแต่ละกรณีค่ะ
การฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา
“มาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิตจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี”
การฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
การฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
องค์ประกอบตามมาตรา 288 คือ ผู้กระทำต้องมีเจตนาที่จะฆ่าผู้อื่นให้ถึงแก่ความตาย
โทษตามกฎหมาย คือ ต้องระวางโทษประหารชีวิตจำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี
มาตรา 289 ผู้ใด
(1) ฆ่าบุพการี
(2) ฆ่าเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำ หรือได้กระทำการตามหน้าที่
(3) ฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่บุคคลนั้นจะช่วยหรือได้ช่วยเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว
(4) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
(5) ฆ่าผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย
(6) ฆ่าผู้อื่นเพื่อตระเตรียมการ หรือเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น หรือ
(7) ฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอา หรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ต้องระวางโทษประหารชีวิต
การฆ่าผู้อื่นโดยการไตรตรองไว้ก่อน
องค์ประกอบตามมาตรา 289 คือ
- ใช้ จ้างวานฆ่าผู้อื่น หรือ
- คบคิดกันวางแผนฆ่าผู้อื่น หรือ
- ตระเตรียมอาวุธที่ใช้ในการฆ่า
- จัดเตรียมยานพาหนะที่ใช้ในการเดินทางเพื่อไปฆ่าผู้อื่น
โทษตามกฎหมาย คือ ประหารชีวิต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 433/2546
การฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน หมายความว่า ก่อนทำการฆ่าผู้กระทำผิดได้คิดไตร่ตรองทบทวนแล้วจึงตกลงใจกระทำความผิด ไม่ใช่กระทำไปโดยปัจจุบันทันด่วนเพราะเมาสุราหรือบันดาลโทสะ การไตร่ตรองไว้ก่อนเป็นเหตุเกี่ยวกับเจตนาส่วนตัวของผู้กระทำผิด ผู้ร่วมกระทำผิดที่มิได้ไตร่ตรองไว้ก่อนไม่มีความผิดด้วยเพราะกฎหมายมุ่งถึงการไตร่ตรองไว้ก่อนซึ่งเป็นสภาพจิตใจของแต่ละคน การจะเป็นตัวการร่วมกันฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจึงต้องมีลักษณะเป็นการวางแผนการคบคิดกันมาแต่ต้นที่จะไปฆ่าผู้อื่น หรือด้วยการใช้จ้างวาน หรือไปดักฆ่าผู้อื่นโดยมีพฤติการณ์ร่วมกันมาแต่ต้น แต่การที่จำเลยที่ 1 ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตายมาก่อน และเป็นญาติพี่น้องกับผู้ตาย ทั้งก่อนเกิดเหตุได้มีการดื่มสุรากันโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ร่วมวางแผนกับจำเลยที่ 2มาก่อน การที่จำเลยที่ 1 ร่วมไปฆ่าผู้ตายจึงเป็นการตัดสินใจในทันทีทันใดลักษณะตกกระไดพลอยโจนมากกว่า ดังนี้ จำเลยที่ 1 คงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 เท่านั้นไม่เป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4)
อ่านบทความเพิ่มเติม คดีอาญา คลิก!
ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีอาญาหรือ จ้างทนายคดีอาญา คลิก!