ภริยาไม่จดทะเบียน ขอเป็นผู้จัดการมรดกได้หรือไม่

สามีภริยาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน เท่ากับว่าภริยาจะเป็นภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามหลักแล้วเท่ากับภริยาคนนี้จะไม่มีสิทธิรับมรดกของสามี แต่ถ้าภริยาที่ไม่ชอบนี้ไป ขอจัดตั้งเป็นผู้จัดการมรดก ของสามีจะได้หรือไม่ 

ภริยาไม่จดทะเบียน ขอเป็นผู้จัดการมรดกสามีได้หรือไม่?

ภริยาไม่จดทะเบียน ขอเป็นผู้จัดการมรดกสามีได้หรือไม่?

                        #ทนายเล่าเรื่อง ในวันนี้ เรากลับมากับคดีมรดกครับ สามีภริยาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน เท่ากับว่าภริยาจะเป็นภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามหลักแล้วเท่ากับภริยาคนนี้จะไม่มีสิทธิรับมรดกของสามีใช่ไหมล่ะครับ แต่ถ้าภริยาที่ไม่ชอบนี้ไปขอตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของสามีจะได้หรือไม่ เราไปดูกันเลยครับ

                      คดีนี้นายดำและนางแดงอยู่กินกันฉันสามีภริยาซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน 

โดยทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 1 คน ชื่อว่า เด็กหญิงฟ้า และนายดำได้จดทะเบียนรับรองเด็กหญิงฟ้าให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ปรากฏว่านายดำเกิดเสียชีวิต นางแดงจึงยื่นคำร้องต่อศาลขอตั้งให้ตนเองเป็นผู้จัดการมรดก แต่นายดำไม่ได้มีภริยาแค่นางแดงคนเดียวครับ นายดำมีภริยาหลายคนซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ทำให้คดีนี้มีผู้คัดค้านเข้ามา ซึ่งผู้คัดค้านก็คือบุตรของนายดำกับภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสคนอื่นๆ  โดยคัดค้านเข้ามาว่านางแดงไม่ได้เป็นภริยาโดยชอบ จึงขอให้ยกคำร้องของนางแดง และตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทนครับ คดีนี้ศาลจะตัดสินยังไง เราไปดูกันเลยครับ

คดีนี้ศาลต้องพิจารณาว่า การที่นางแดงมิใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายดำนั้น ทำให้นางแดงไม่มีสิทธิที่จะร้องตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ 

                   โดยศาลมองว่า แม้นางแดงจะมิใช่ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายดำก็ตาม แต่ตามทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนรับรองบุตร เห็นว่านายดำได้อยู่กินกันฉันสามีภริยากับนางแดงจนมีบุตรด้วยกัน 1 คนซึ่งก็คือเด็กหญิงฟ้า ซึ่งนายดำก็ได้จดทะเบียนรับรองบุตรแล้ว จึงเชื่อว่า นายดำได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนางแดงมาเป็นเวลานาน ที่ดินและรถยนต์ที่เป็นของนายดำก็ได้มาหลังจากที่นายดำอยู่กินกันฉันสามีภริยากับนางแดง ซึ่งไม่ปรากฏว่าทรัพย์ดังกล่าวได้มาโดยการรับมรดกหรือได้มาโดยการให้โดยเสน่หา ที่ดินและรถยนต์ดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่นายดำและนางแดงเป็นเจ้าของร่วมกัน ถือได้ว่า นางแดง เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 นางแดง จึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกนายดำได้ และเมื่อนางแดงไม่ได้เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย ศาลจึงเห็นสมควรตั้งนางแดง เป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย

                   และนั่นแหละครับ แม้ว่าสามีภริยาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่เมื่อมีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันซึ่งได้มาหลังจากอยู่กินกันฉันสามีภริยา ทรัพย์สินนั้นก็ถือเป็นกรรมสิทธิ์รวมครับ ภริยาจึงมีส่วนได้เสียในมรดกที่เป็นทรัพย์สินที่มีชื่อของสามีนั่นเองครับ

                  อ้างอิง : ฎ.2510/2545

                  

รวมสาระที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับ #ทนายเล่าเรื่อง มาให้ชมกัน

ติดต่อ ปรึกษาทนาย หรือ จ้างทนาย คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด