ภาระจำยอม ไม่จดทะเบียนมีผลอย่างไร
ภาระจำยอม ไม่จดทะเบียนมีผลอย่างไร ภาระจำยอมที่มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย ต้องจดทะเบี
ปัจจุบันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่ารถยนต์เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของใครหลายคน แม้การคมนาคมขนส่งสาธารณะจะสะดวกขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต แต่การมีรถส่วนตัวก็ช่วยให้ใช้ชีวิตง่ายขึ้น ซึ่งการจะซื้อรถใหม่นั้นอาจไม่จำเป็นต้องเก็บก้อนล้านครึ่งล้านเพื่อซื้อรถสักคัน เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะซื้อรถโดยวิธีการเช่าซื้อ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ผ่อนรถ”
การผ่อนรถหรือในภาษากฎหมายคือการเช่าซื้อรถยนต์นั้น คือผู้เช่าซื้อทำสัญญากับผู้ขายและสถาบันการเงิน เมื่อผู้เช่าซื้อชำระเงินบางส่วน หรือที่เรียกกันว่า “เงินดาวน์” ให้กับผู้ขาย ทางสถาบันการเงินในฐานะผู้ให้เช่าซื้อจะชำระเงินส่วนที่เหลือให้กับผู้ขาย แล้วผู้ขายก็ทำการโอนรถยนต์ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าซื้อ โดยระบุชื่อผู้เช่าซื้อเป็นผู้ครอบครองไว้ในสมุดทะเบียนประจำรถ ระหว่างนั้นผู้เช่าซื้อมีหน้าที่ผ่อนชำระเงินส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยเป็นงวด ๆ ที่เรียกว่า “ค่างวด” ให้กับผู้ให้เช่าซื้อ เมื่อครบตามจำนวนที่ตกลงไว้แล้ว ผู้ให้เช่าซื้อก็จะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันนี้ให้เป็นของผู้เช่าซื้อก็เป็นอันจบกระบวนการเช่าซื้อรถ
กรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรายงวดสามงวดติด ๆ กัน ผู้ให้เช่าซื้อจะมีหนังสือบอกกล่าวผู้เช่าซื้อให้ใช้เงินรายงวดที่ค้างชำระนั้นภายในเวลาอย่างน้อยสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือ หากผู้เช่าซื้อละเลยไม่ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวนั้น ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ หลังจากนั้นผู้เช่าซื้อจะเข้าครอบครองรถยนต์ และนำออกขายโดยวิธีประมูลหรือวิธีขายทอดตลาดที่เหมาะสม โดยต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 ซึ่งหากขายได้เกินราคากว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อต้องคืนเงินส่วนที่เกินนั้นให้แก่ผู้เช่าซื้อ แต่ถ้าได้ราคาน้อยกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบส่วนที่ขาดนั้น
ด้วยเหตุจำเป็นข้างต้น ผู้เช่าซื้อที่รู้ตัวว่าตนอาจจะไม่สามารถชำระค่าเช่าซื้อและไม่อยากเสี่ยงที่จะต้องรับผิดต่อความเสียหายหลังจากการเลิกสัญญา ก็จะพยายามหาวิธีขายรถเพื่อปิดยอดหนี้ระหว่างตนกับผู้ให้เช่าซื้อ ซึ่งการขายปกตินั้นเงินที่ได้อาจไม่พอชำระหนี้ที่เหลืออยู่ ผู้เช่าซื้อหลายคนจึงเลือกวิธีขายดาวน์ให้บุคคลอื่น กล่าวคือ ผู้เช่าซื้อรายเดิม (ผู้ขายดาวน์) เปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อและส่งมอบการครอบครองรถ ให้ผู้เช่าซื้อรายใหม่ (ผู้ซื้อดาวน์) เข้ามาเป็นผู้รับชำระค่าเช่าซื้อรายงวด และเป็นผู้รับกรรมสิทธิ์แทนตนเมื่อชำระค่างวดครบถ้วนแล้ว ทั้งนี้ผู้ซื้อดาวน์อาจมีการจ่ายเงินบางส่วนให้กับผู้ขายดาวน์หรือไม่ก็ตามแต่จะตกลงกัน โดยการที่ผู้ซื้อดาวน์จะเข้ามาเป็นผู้เช่าซื้อรายใหม่ในสัญญาได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ให้เช่าซื้อ
บางกรณีผู้ซื้อดาวน์ก็ไม่มีคุณสมบัติหรือไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่จะทำให้ผ่านการพิจารณาได้ ผู้ซื้อดาวน์และผู้ขายดาวน์จึงแก้ปัญหาโดยการทำสัญญาซื้อขายระหว่างกันโดยกำหนดให้ผู้ซื้อดาวน์มีหน้าที่ชำระค่างวดจนครบสัญญา และผู้ขายดาวน์จะโอนกรรมสิทธิ์ให้ภายหลัง ซึ่งการทำแบบนี้อาจสร้างปัญหาเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญา เช่น กรณีผู้ซื้อดาวน์ชำระค่างวดเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ขายดาวน์อาจบิดพลิ้วไม่โอนกรรมสิทธิ์ให้ตามสัญญา หรือระหว่างนั้นผู้ขายดาวน์เสียชีวิตไปโดยไม่ทันโอนกรรมสิทธิ์ ผู้ซื้อดาวน์ก็ไม่ได้มีข้อผูกมัดในสัญญาเช่าซื้อ ก็จะต้องไปฟ้องร้องแก่ทายาทและมีภาระที่จะต้องนำพยานหลักฐานต่าง ๆ เข้าสืบว่าตนควรได้รับกรรมสิทธิ์อย่างไร ซึ่งเป็นข้อยุ่งยาก เสียเวลาและค่าใช้จ่าย และสุดท้ายอาจไม่ได้กรรมสิทธิ์ไปเสียอย่างนั้น
ในทางกลับกัน เมื่อผู้ซื้อดาวน์รับรถไปแต่ไม่ชำระค่าเช่าซื้อรายงวด ความเสียหายย่อมเกิดแก่ผู้ขายดาวน์เพราะยังถือเป็นผู้เช่าซื้อ มีภาระต้องชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญา ครั้นจะยกเลิกสัญญาและส่งคืนรถแก่ผู้ให้เช่าซื้อ ก็อาจเป็นไปไม่ได้เพราะส่งมอบการครอบครองไปให้แก่ผู้ซื้อดาวน์แล้ว ย่อมยากที่จะติดตาม หรือในบางกรณีรถยนต์คันดังกล่าวอาจถูกส่งต่อไปยังบุคคลที่สาม หรือส่งขายตลาดมืดจนไม่อาจติดตามได้ โดยพฤติการณ์ดังกล่าวอาจเป็นเพียงการผิดสัญญาทางแพ่งหรืออาจเข้าข่ายยักยอก หรือฉ้อโกง อันเป็นความผิดอาญาหากปรากฎว่าผู้ซื้อดาวน์มีเจตนาที่จะหลอกเอาทรัพย์ไปโดยมิได้มีเจตนาที่จะผ่อนชำระต่อตั้งแต่ต้น ผู้ขายดาวน์อาจดำเนินคดีต่อผู้ซื้อดาวน์ที่ผิดสัญญาได้ แต่หากไม่สามารถติดตามรถยนต์คืนกลับมาได้และผู้ซื้อดาวน์ไม่มีทรัพย์ใดที่จะบังคับคดีได้ ผู้ขายดาวน์ก็ไม่มีหนทางใดที่จะนำทรัพย์มาบรรเทาผล ในขณะที่ภาระในการชำระหนี้ต่อผู้ให้เช่าซื้อยังคงอยู่ สุดท้ายแล้วผู้ขายดาวน์ในฐานะผู้เช่าซื้อก็อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีหนักกว่าการรับผิดในส่วนต่างจากการขายทอดตลาดหลายเท่านัก
เช่นนั้นแล้ว หากผู้เช่าซื้อประสงค์จะขายดาวน์ก็ควรเปลี่ยนสัญญาเสียให้เรียบร้อย หรือหากไม่สามารถหาผู้ซื้อดาวน์ที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขนี้ได้ ก็ควรเลือกวิธีอื่น เช่น ยกเลิกสัญญา ส่งรถกลับคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อ เพื่อเข้าสู่กระบวนการขายทอดตลาด หากเงินไม่พอชำระหนี้อย่างไรก็ค่อยเจรจาผ่อนชำระตามส่วนต่างที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นทางเลือกที่เสี่ยงน้อยกว่า หรือถ้าโชคดีการขายทอดตลาดก็อาจขายได้มากกว่ายอดหนี้ที่มีอยู่ ซึ่งผู้เช่าซื้อก็จะได้รับเงินส่วนต่างกลับมาอีกด้วย
อ่านบทความเพิ่มเติม คดีแพ่ง คลิก!
ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีแพ่งหรือ จ้างทนายคดีแพ่ง คลิก!
ภาระจำยอม ไม่จดทะเบียนมีผลอย่างไร ภาระจำยอมที่มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย ต้องจดทะเบี
ผู้จัดการมรดกสามารถขายที่ดินได้ไหม #ก่อนจัดการมรดกต้องรู้ผู้จัดการมรดกสามารถขายท
คดีอุบัติเหตุ ดำเนินคดีอะไรได้บ้าง และผู้ฟ้องต้องพิสูจน์คดีอย่างไร หากเกิดอุบัติ
ถ้าฟ้องบังคับจำนองเกิน 10 ปี ผลเป็นอย่างไร ถ้าศาลพิพากษาแล้ว ปรากฏว่าเจ้าหนี้ไม่