ขายหนี้ คืออะไร และมีกฎหมายที่ต้องพิจารณาอย่างไร

เจ้าหนี้ได้ขายหนี้
แล้วลูกหนี้ต้องใช้หนี้อยู่หรือไม่

ขายหนี้ คืออะไร และมีกฎหมายที่ต้องพิจารณาอย่างไร

          วันดีคืนดี ลูกหนี้ได้รับหนังสือให้ชำระหนี้จากเจ้าหนี้รายใหม่ในมูลหนี้เดิมที่ลูกหนี้เข้าทำสัญญากับเจ้าหนี้เดิม ซึ่งมีใจความว่า เจ้าหนี้เดิมได้ขายหนี้ ให้เจ้าหนี้รายใหม่ไปแล้ว และเจ้าหนี้รายใหม่ขอใช้สิทธิรับชำระหนี้แทน ซึ่งลูกหนี้ก็มักจะเกิดความสงสัยว่า ขายหนี้กันไม่บอกลูกหนี้หรือ? ทำได้หรือ? หากมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ซึ่งเซ็นแล้วส่งตามเดิมหรือไม่? หากส่งหนังสือมาต้องจ่ายเป็นก้อนภายในกี่วันตามนี้เลยหรือ? ถ้าลูกหนี้ไม่จ่ายหรือไม่มีเงินจ่ายทันกำหนด เจ้าหนี้ใหม่มีอำนาจฟ้องศาลได้หรือไม่? เป็นธรรมต่อลูกหนี้หรือไม่ แล้วการขายหนี้คืออะไร

           ต้องพิจารณาก่อนว่า กฎหมายได้กำหนดเรื่องการขายหนี้ หรือการโอนสิทธิเรียกร้องไว้เพียงใด การขายหนี้ที่ลูกหนี้แต่ละรายเจอมีผลเช่นไร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303 สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าจะพึงโอนกันได้ เว้นไว้แต่สภาพแห่งสิทธินั้นเองจะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้
          มาตรา 306 การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือ ท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่งการโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น คำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่นว่านี้ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ

ขายหนี้-คือ

           ขายหนี้-คือ เมื่อสภาพแห่งหนี้ได้เปิดช่องเจ้าหนี้ก็สามารถขายหนี้ให้บุคคลอื่นได้ เมื่อเจ้าหนี้โอนสิทธิเรียกร้องไปแล้ว ผู้ที่ซื้อหนี้ย่อมมีสิทธิเท่ากับเจ้าหนี้เดิมที่มีอยู่ต่อลูกหนี้ โดยผู้ที่ซื้อหนี้ต่อไม่สามารถใช้สิทธิเกินส่วนจากเจ้าหนี้เดิมได้ เช่น หนี้บัตรเครดิต มีอายุความ 2 ปี แต่ผู้ซื้อหนี้ ซื้อหนี้ไปแล้วปรากฎว่าหนี้ดังกล่าวขาดอายุความ ผู้ซื้อหนี้จะอ้างเหตุเพื่อมีสิทธิดีกว่าเจ้าหนี้เดิมไม่ได้ แต่ก็ยังสามารถใช้สิทธิทางศาลได้ ซึ่งลูกหนี้สามารถต่อสู้เรื่องอายุความได้เช่นกัน

       การขายหนี้ ต้องขายหนี้ต่อผู้มีสิทธิซื้อหนี้ได้ตามที่กฎหมายกำหนด ต้องทำเป็นหนังสือ และมีหนังสือบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้ด้วย

ตัวอย่างการขายหนี้และผลของกฎหมาย ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 6334/2550

             ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคหนึ่ง และมาตรา 306 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติว่า หนี้ที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระแล้วจะโอนให้แก่กันไม่ได้ และผู้รับโอนจะต้องมีส่วนได้เสียในมูลหนี้ที่รับโอน แม้การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างเจ้าหนี้กับโจทก์จะกระทำภายหลังจำเลยผิดนัดชำระหนี้แล้วและโจทก์มิได้มีส่วนได้เสียในมูลหนี้ดังกล่าว ก็มิใช่เรื่องการซื้อขายความและไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องได้ทำเป็นหนังสือและโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามมาตรา 306 วรรคหนึ่งแล้ว ย่อมมีผลสมบูรณ์และใช้ยันจำเลยได้ โจทก์ผู้รับโอนซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้แทนเจ้าหนี้เดิมย่อมมีสิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้ที่มีอยู่จากจำเลยได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยให้ชำระหนี้ดังกล่าวได้

          ฉะนั้นแล้ว ลูกหนี้ต้องใช้หนี้ผู้ซื้อหนี้หรือเจ้าหนี้รายใหม่หรือผู้รับโอนหนี้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามสัญญาว่า สภาพแห่งหนี้เปิดช่องให้สามารถขายหนี้ให้บุคคลอื่นได้หรือไม่ สามารถดูตัวอย่างตามคำพิพากษาฎีกาที่ 799/2551 และพิจารณาในเรื่องของอายุความ เพื่อใช้สิทธิทางศาลตามแต่กรณีครับ

Info - ขายหนี้ คืออะไร และมีกฎหมายที่ต้องพิจารณาอย่างไร

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีแพ่ง คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีแพ่งหรือ จ้างทนายคดีแพ่ง คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด