ครอบครองไว้เพื่อเสพ พิสูจน์อย่างไร

ครอบครองไว้เพื่อเสพ พิสูจน์อย่างไร

            ในคดียาเสพติด กฎหมายกำหนดความผิดเอาไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย ครอบครอง ไปจนถึงการเสพ แต่ที่เป็นคดีเยอะๆ ในปัจจุบันสามารถแยกได้เป็น 2 ประเภท คือ ครอบครองไว้เพื่อเสพ และ ครอบครองไว้เพื่อจำหน่าย
           วันนี้ผมจะพามาดูที่เรื่องการครอบครองเพื่อเสพครับว่ามันคืออะไร แล้วพอเป็นคดีจริง ๆ ขึ้นมา แต่เรากลับโดนข้อหาครอบครองเพื่อจำหน่าย แบบนี้เราต้องพิสูจน์อย่างไรเพื่อให้เหลือเพียงข้อหาครอบครองไว้เพื่อเสพจริง ๆ ไม่ใช่เลยเถิดไปเป็นครอบครองเพื่อจำหน่าย ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันเลยครับ

ความผิดฐานครอบครองไว้เพื่อเสพ คืออะไร?

            ความผิดฐานครอบครองไว้เพื่อเสพนั้น คือความผิดฐานมียาเสพติดไว้ในครอบครองในปริมาณเล็กน้อยเพื่อที่จะเสพ ซึ่งกฎหมายกำหนดว่า ห้ามผู้ใดมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 2 หรือ 5 ไว้ในความครอบครองเพื่อเสพ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แล้วจำนวนเท่าไหร่ ถึงจะเป็นการครอบครองไว้เพื่อเสพ?

           ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ในเรื่องการมีไว้ในครอบครองเพื่อเสพนั้น กฎหมายเปิดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุขเป็นคนกำหนดว่า จำนวนเล็กน้อยเท่าใดที่จะได้รับการสันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ 

            ซึ่งในปัจจุบัน ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข และตำรวจ รวมถึงหน่วนอื่นงานที่เกี่ยวข้องก็พึ่งประชุมเกี่ยวกับเรื่องนี้กันไป โดยเคาะในส่วนของยาบ้า ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ว่าจะต้องมีไว้ในครอบครองไม่เกิน 5 เม็ดเพื่อจะได้รับการสันนิษฐานว่าครอบครองไว้เพื่อเสพ แต่ก็ยังเป็นเพียงมติของที่ประชุม ยังไม่ได้มีการประกาศเป็นกฎกระทรวงออกมานะครับ 

ครอบครองไว้เพื่อเสพ พิสูจน์อย่างไร

แล้วจำนวนเท่าไหร่ ถึงจะเป็นการครอบครองไว้เพื่อเสพ?

            แต่สำหรับคนที่มียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อเสพ แต่อาจจะตุนไว้เป็นจำนวนที่เยอะหน่อย อาจจะ 20 เม็ด แต่ดันถูกตำรวจจับ และถูกตั้งข้อหาว่าครอบครองไว้เพื่อจำหน่าย ถามว่าแบบนี้เราจะพิสูจน์ยังไง ในเมื่อเราแค่ครอบครองไว้เพื่อเสพ ไม่ได้จะเอาไปขายใครเลย ไปดูกันเลยครับ 

             ขอบอกไว้ก่อนเลยว่าประมวลกฎหมายยาเสพติดได้มีการยกเลิกข้อสันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายไปแล้ว จึงจะดูจากพฤติการณ์ต่างๆ ว่าเข้าข่ายเป็นผู้ขายหรือไม่ โดยที่ไม่ได้นับเม็ดยาแล้วสันนิษฐานว่าเป็นผู้ขายแล้ว ทีนี้เราไปดูข้อพิสูจน์กันดีกว่า  

1. พิสูจน์ว่าทำไมต้องมียาเสพติดไว้ในครอบครองจำนวนมาก – แน่นอนในคดียาเสพติด ส่วนใหญ่ผู้ต้องหาหรือจำเลยก็มักจะให้การรับสารภาพอยู่แล้วว่าตนเสพหรือจำหน่าย แต่กรณีที่มียาในปริมาณเยอะๆ แต่เราตุนไว้เพื่อเสพ ก็ต้องชี้แจงให้ศาลเห็นว่า ทำไมต้องมียาไว้ในครอบครองมากกว่าคนปกติที่เสพยา อาจจะใช้หลักฐานการตรวจปัสสาวะที่ปรากฏว่ามีการเสพยาเสพติด และมีอุปกรณ์ในการเสพยาเสพติดเพื่อยืนยันว่าเสพจริง
2. พิสูจน์ว่าไม่มีพฤติการณ์ที่จะจำหน่าย – พิสูจน์ว่าในการที่เรามียาเสพติดในจำนวนที่มากกว่าปกติจะเสพนั้น เราไม่ได้มีพฤติการณ์ที่จะเอามาขายให้ใคร เก็บไว้เสพเองตลอด ไม่มีการไปติดต่อกับคนอื่นในลักษณะที่เป็นการแอบขายยาเสพติด หรือไม่มีอุปกรณ์ในการแบ่ง เป็นต้นครับ
3. พิสูจน์ว่าไม่เคยมีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติดมาก่อน มีอาชีพมีรายได้ – การพิสูจน์ตรงนี้จะนำมาช่วยประกอบข้อต่อสู้ว่าเราไม่ได้ขาย เพราะอย่างที่รู้กันว่า การขายยาเสพติดจะได้เงินจากการขายเยอะและอาจจะมีประวัติเกี่ยวกับยาเสพติดมาก่อน แล้วพัฒนากลายเป็นผู้ขาย ซึ่งหากพิสูจน์ตรงนี้ได้ว่าเรามีรายได้จากการทำอาชีพที่สุจริตอยู่แล้วและไม่ได้มีการข้องเกี่ยวกับยาเสพติดมาก่อน แบบนี้ก็จะช่วยให้เรามีน้ำหนักไปทางเสพมากกว่าขายครับ

              ก็จบไปแล้วนะครับ ซึ่งข้อพิสูจน์ทั้ง 3 ข้อที่ผมกล่าวไปเป็นเพียงข้อพิสูจน์เบื้องต้นที่ส่วนใหญ่มักจะใช้เป็นข้อต่อสู้ในชั้นศาล ยังมีข้อพิสูจน์อื่นๆ ที่ขึ้นอยู่กับเนื้อหาแต่ละคดีอีกครับ และปัจจุบัน ในการตั้งข้อหา ตำรวจมักจะดูจากพฤติการณ์เป็นหลักครับ หากมียาเสพติดจำนวนไม่เยอะ ตำรวจจะลงก่อนเลยว่ามีความผิดฐานมียาเสพติดไว้ในครอบครอง ซึ่งหากสอบสวนไปเรื่อย ๆ แล้วพบว่าเราเสพด้วย ก็จะกลายเป็นข้อหาเสพยาเสพติดต่างหากโดยแยกกับข้อหาครอบครอง ซึ่งหากจะโดยครอบครองเพื่อจำหน่ายส่วนใหญ่จะเป็นการล่อซื้อหรือสืบทราบมาจริงๆ ว่าจำหน่ายนั่นเองครับ

Info - ครอบครองเพื่อเสพ พิสูจน์อย่างไร

อ่านบทความเพิ่มเติม คดียาเสพติด คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดียาเสพติด หรือ จ้างทนายคดียาเสพติด คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด