ความผิดต่อส่วนตัว & ความผิดต่อแผ่นดิน

ความผิดต่อส่วนตัว & ความผิดต่อแผ่นดิน

การดำเนินคดีอาญานั้น ต้องมีความผิดทางอาญาเกิดขึ้นก่อน แล้วก็ต้องพิจารณาว่า ความผิดนั้นบุคคลใด คือ “ผู้เสียหาย” ตามป.วิ.อ.มาตรา 2 (4) เนื่องจากส่งผลทางกฎหมายแตกต่างกัน เพื่อให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษทางอาญา กล่าวคือ ริบทรัพย์สิน ปรับ กักขัง จำคุก ประหารชีวิต ตามที่กฎหมายระบุโทษเอาไว้

ข้อแตกต่างระหว่างความผิดต่อส่วนตัวและความผิดต่อแผ่นดิน คือ

  1. ความผิดต่อส่วนตัว ผู้เสียหายจะต้องมีการร้องทุกข์ ตามป.วิ.อ.มาตรา 2(7) เสียก่อน มิฉะนั้น

พนักงานสอบสวนจะถูก “ห้ามมิให้ทำการสอบสวน” ตามป.วิ.อมาตรา 121 วรรคสอง โดยผู้เสียหายสามารถมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ได้  การร้องทุกข์ในความผิดต่อส่วนตัว ต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน มิฉะนั้นสิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องจะระงับ อีกทั้งในกรณีผู้เยาว์ซึ่งเป็นผู้เสียหายก็สามารถร้องทุกข์ได้ โดยไม่ต้องรับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม โดยคำร้องทุกข์ดังกล่าว แม้ยังไม่ได้ลงบันทึกประจำวัน ก็เป็นคำร้องทุกข์แล้ว แต่ก็อยากให้ร้องทุกข์แบบประสงค์ดำเนินคดีไว้เพื่อมีเจตนาให้นำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ แม้ว่าจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม

ความผิดต่อส่วนตัว เป็นความผิดอันยอมความได้ ดังนั้นถ้าผู้ถูกกระทำไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดีต่อ จะถอนการร้องทุกข์ หรือถอนฟ้องคดีก็ย่อมได้ ความผิดต่อส่วนตัว เช่น คดียักยอกทรัพย์ คดีฉ้อโกง

 

  1. ความผิดต่อแผ่นดิน คือ ความผิดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความผิดที่ “ รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย ”

เนื่องจาก บุคคลทั่วไปย่อมไม่อาจดำเนินคดีในฐานะผู้เสียหายได้  เป็นความผิดที่มีผลกระทบต่อสังคมโดยตรง แม้ผู้ถูกกระทำจะไม่ติดใจเอาความหรือดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดแล้วก็ตาม  เมื่อแจ้งความร้องทุกข์ไว้แล้วก็ไม่อาจจะยอมความหรือถอนคำร้องทุกข์ไว้ได้ คดีดังกล่าวต้องดำเนินต่อไป 

ความผิดต่อแผ่นดิน เป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้  แต่ถ้าเป็นความผิดที่ทั้งบุคคลและรัฐต่างก็เป็นผู้เสียหาย บุคคลนั้นสามารถร้องเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการได้  ความผิดต่อแผ่นดิน เช่น คดีลักทรัพย์ คดีฉ้อโกงประชาชน ส่วนเรื่องการร้องทุกข์สามารถดู คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1677/2563 ประกอบคือ
           

 

จำเลยทั้งสองถูกกล่าวหาว่าร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมและร่วมกันปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควรอันเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นของจำเลยทั้งสอง  อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข โดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่มีเหตุอันสมควรโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 364 และมาตรา 365(2) ซึ่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(2) เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน จึงไม่ต้องร้องทุกข์ภายในกำหนดสามเดือนนับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96  คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

 

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีอาญา คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีอาญาหรือ จ้างทนายคดีอาญา คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด