เหตุและวิธีการ คัดค้านพินัยกรรม

เปิดเหตุและวิธีการ
คัดค้านพินัยกรรม

ต้องทำอย่างไร?

เหตุและวิธีการ คัดค้านพินัยกรรม

             การทำพินัยกรรมจัดการเรื่องทรัพย์สินก่อนที่จะเสียชีวิตไปเป็นเรื่องที่ดีแน่นอนเพราะจะได้ตัดปัญหาเรื่องการแบ่งมรดกตามกฎหมายออกไปเลย ลูกหลานจะได้ไม่ต้องทะเลาะกันแย่งมรดกด้วย แต่ถ้าทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย พินัยกรรมนั้นก็อาจเป็นโมฆะได้ แล้วถ้าพินัยกรรมเป็นโมฆะขึ้นมาเราจะโต้แย้งหรือคัดค้านได้หรือเปล่า แล้วมีวิธีการคัดค้านพินัยกรรมยังไง ไปดูกันเลยครับ

เหตุในการคัดค้านพินัยกรรม

             เรามาเริ่มดูจากเหตุในการคัดค้านพินัยกรรมกันก่อนเลยครับว่ามีเหตุอะไรบ้าง โดยผมยกมา 3 เหตุใหญ่ ๆ ดังนี้ครับ

1. เหตุที่ตัวผู้ทำพินัยกรรม

             ตามกฎหมายการทำพินัยกรรมเป็นการทำนิติกรรมอย่างหนึ่ง ตัวผู้ทำพินัยกรรมจะต้องมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน ไม่ถูกหลอก หรือถูกข่มขู่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะไม่มีปัญหาครับเพราะตัวพินัยกรรมก็จะมีข้อความรับรองว่าผู้ทำพินัยกรรมมีสติสัมปชัญญะครับถ้วนอยู่แล้ว จะมีปัญหาก็คือทำพินัยกรรมตอนป่วยหนักหรือติดเตียงนี่แหละครับ ถ้ามีการพิสูจน์ได้ว่า ตอนทำป่วยหนัก ไม่มีสติสัมปชัญญะตอนทำ พินัยกรรมนั้นก็เสียเปล่าไป สามารถยกเหตุนี้ขึ้นคัดค้านได้ครับ
             ซึ่งถ้าอยากป้องกันปัญหานี้ ส่วนใหญ่แล้วก็จะใช้วิธีการขอใบรับรองแพทย์โดยแจ้งว่าจะเอาไปใช้ทำพินัยกรรม หมอก็จะตรวจว่ามีสติสัมปชัญญะครบถ้วนหรือเปล่า ถ้าครบก็จะออกใบรับรองแพทย์ยืนยันว่ามีสติสัมปชัญญะครบถ้วนนั่นเองครับ

2. เหตุเรื่องความถูกต้องของพินัยกรรม

               เมื่อพินัยกรรมมันเป็นเอกสารอย่างหนึ่ง จึงสามารถถูกปลอมแปลงขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดทราบว่า พินัยกรรมถูกปลอมก็สามารถคัดค้านและหาหลักฐานมาพิสูจน์ได้เลยครับ ถ้าอยากตัดปัญหานี้ก็อาจจะเลือกทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองหรือแบบลับที่จะต้องไปทำที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอได้เลยครับ ก็จะเซฟมากขึ้น

3. เหตุที่กฎหมายกำหนด

              เหตุตามกฎหมายนี้ก็จะเป็นเรื่องแบบของพินัยกรรมที่กฎหมายกำหนดให้ทำตาม ถ้าไม่ยอมทำตาม พินัยกรรมนั้นก็จะตกเป็นโมฆะครับ เช่น พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับก็จะต้องเขียนด้วยลายมือทั้งหมดจริง ๆ จะมีตัวพิมพ์แล้วเติมคำแบบนี้ไม่ได้ครับ เป็นการทำผิดแบบ ทำให้พินัยกรรมนั้นตกเป็นโมฆะครับ

วิธีการคัดค้านพินัยกรรม

              เมื่อมีเหตุในการคัดค้านพินัยกรรมตาม 3 เหตุด้านบนแล้ว แน่นอนว่าเราสามารถคัดค้านได้เลยอาจจะคัดค้านโดยเรียกทายาททั้งหมดมารวมถึงตัวผู้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมด้วยและชี้แจงถึงเหตุที่ทำให้พินัยกรรมสิ้นผลไปครับ แต่ส่วนใหญ่การคัดค้านกันเองไม่ค่อยได้ผลครับ ถ้าจะให้ชัดเจนก็คือไปคัดค้านที่ศาลครับ
              โดยเราสามารถคัดค้านได้ตั้งแต่ชั้นขอตั้งผู้จัดการมรดกเลยครับเพราะปกติการจะจัดการตามพินัยกรรมก็จะต้องมีการตั้งผู้จัดการมรดกมาจัดการตามที่พินัยกรรมกำหนด หรือถ้าตั้งผู้จัดการมรดกไปแล้ว ก็สามารถยื่นคำร้องถอนผู้จัดการมรดกและอ้างเหตุคัดค้านพินัยกรรมก็ได้ครับ หรือจะไปคัดค้านกันในชั้นฟ้องแบ่งมรดกก็ได้เช่นกัน สรุปง่ายๆ ก็คือคัดค้านในศาลในคดีที่เกี่ยวกับมรดกนั่นเองครับ

Info - เหตุและวิธีการ คัดค้านพินัยกรรม

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีมรดก คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีมรดกหรือ จ้างทนายคดีมรดก คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด