ฆ่าตัวตาย

ฆ่าตัวตาย ผิดกฎหมายหรือไม่

เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาในสถานการณ์ COVID-19 นี้นอกจากจะทำให้เกิดปัญหาในทางเศรษฐกิจแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดผลทางสุขภาพจิตของประชาชนโดยรวมด้วย ทั้งด้วยอาการของโรคก็ดี การต้องกักตัวเป็นระยะเวลานานก็ดี การไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันก็ดี หรือด้วยปัญหาสภาพทางการเงินก็ดี สิ่งเหล่านี้นำไปสู่สถิติการฆ่าตัวตายที่มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา วันนี้ทางผู้เขียนจึงนำเกร็ดความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายในมุมทางกฎหมายมาตีแผ่เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง

คำถามที่นักกฎหมายหลายท่านเคยเจอกับตนเองแต่ไม่รู้จะตอบอย่างไรก็คือ การฆ่าตัวตายผิดกฎหมายหรือไม่? ซึ่งในทางกฎหมายนักกฎหมายคงตอบกันได้ไม่ยาก แต่จะติดก็ตรงเรื่องความละเอียดอ่อน คุณธรรม และประเด็นทางศีลธรรมหรือศาสนามากกว่า การฆ่าตัวตายนี้บางประเทศ เช่น อังกฤษเคยถือเป็นความผิดทางอาญาอยู่ จนกระทั่งต่อมามีการยกเลิกฐานความผิดดังกล่าว การกำหนดฐานความผิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายนั้นอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ในบางศาสนาถือเอาหลักความเป็นสูงสุดของชีวิตซึ่งได้มาจากพระเจ้าเป็นที่ตั้ง ทำให้มนุษย์ไม่มีสิทธิพรากชีวิตตนเอง หรือในมุมด้านความมั่นคง การดำรงอยู่ของประชากรย่อมเป็นหลักประกันความมั่นคงของรัฐประการหนึ่ง เป็นต้น แต่ตามกฎหมายไทยนั้น การฆ่าตัวตายไม่เป็นความผิดทางอาญาแต่อย่างใด

เนื่องจากตามประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติความผิดเกี่ยวกับชีวิตในมาตรา 288 ไว้ว่า “ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษ…” จึงเห็นได้ชัดเจนว่ากฎหมายมุ่งคุ้มครองการกระทำต่อชีวิตของบุคคลอื่นเป็นสำคัญ ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็มีฎีกาที่น่าสนใจคือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 64/2465 พิพากษาให้การที่ยอมรับประทานอาหารซึ่งตนเองเป็นผู้ปนยาพิษลงไปเท่ากับการกระทำตนเอง จะเอาผิดผู้ใดในฐานะฆ่าคนไม่ได้ ดังนั้น เมื่อการฆ่าตัวตายไม่เป็นความผิด จึงย่อมไม่อาจมีผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในความผิดดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการยกร่างกฎหมายอาญาใน พ.ศ. 2500 ได้มีการกำหนดความผิดในการเป็นผู้ช่วยเหลือหรือยุยงการฆ่าตัวตายไว้เพิ่มเติมในมาตรา 293

การช่วยเหลือหรือยุยงบุคคลบางประเภทให้ฆ่าตัวตายเป็นความผิด

ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 293 กำหนดให้ บุคคลที่ช่วยเหลือหรือยุยงบุคคลดังต่อไปนี้ให้ฆ่าตัวตายถือเป็นความผิด
1. เด็กอายุไม่เกิน 16 ปี
2. ผู้ซึ่งไม่สามารถเข้าใจการกระทำของตน
3. ผู้ซึ่งไม่สามารถบังคับการกระทำของตนได้

โดยการช่วยเหลือหรือยุยงอาจมีได้หลายกรณี เช่น ช่วยผสมยาพิษให้ ช่วยเป็นธุระพาไปในสถานที่ที่จะฆ่าตัวตาย ช่วยจัดหาปืนให้ หรือพูดแนะนำให้เชื่อและกระทำการฆ่าตัวตาย หรือยุยงให้รีบฆ่าตัวตายเสีย เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม บุคคลที่ผิดฐานช่วยเหลือหรือยุยงนั้นจะต้องไม่ใช่ผู้ลงมือกระทำเอง

ตัวอย่าง A อยากฆ่าตัวตายเลยบอกให้ B เอาปืนยิงตน หาก B ยิง A จนถึงแก่ความตายเช่นนี้ B จะมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา มิใช่ความผิดฐานช่วยเหลือตามมาตรา 293 แต่อย่างใด 

และต้องไม่ใช่กรณีหลอกใช้ผู้ตายเป็นเครื่องมือในการฆ่าตนเอง 

ตัวอย่าง A วางยาพิษในอาหารของ B และคะยั้นคะยอให้ B กิน โดย B ไม่รู้ว่าในอาหารนั้นมีพิษ เมื่อ B กินอาหารแล้วตาย A จะมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา เนื่องจากกรณีนี้ B ไม่ได้มีความประสงค์ที่จะฆ่าตัวตายแต่อย่างใด ต้องถือว่าการตายนั้นเกิดขึ้นจากการกระทำของ A โดยตรง

การไม่ช่วยคนกำลังฆ่าตัวตายอาจเป็นความผิด

แม้จะได้ทราบไปแล้วว่าการฆ่าตัวตายไม่เป็นความผิด และการช่วยเหลือหรือยุยงให้บุคคลบางประเภทฆ่าตัวตายอาจเป็นความผิด แต่กฎหมายก็ได้กำหนดหน้าที่ตามศีลธรรมไว้โดยทั่วไปในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 374 โดยบัญญัติว่า “ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิตซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่กลัวอันตรายแก่ตนแต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษ…” ดังนั้น กรณีที่จะเป็นความผิดจะต้องฟังได้ความว่าเป็นกรณีที่อยู่ในสถานการณ์ที่ช่วยได้โดยไม่กลัวอันตราย แต่ไม่ช่วย เท่านั้น หากกรณีที่อาจเกิดอันตรายกับตนเอง บุคคลนั้นก็ย่อมเลือกที่จะไม่ช่วยเพื่อรักษาชีวิตตนเองได้ เช่น เห็นคนกระโดดลงในแม่น้ำเชี่ยวเพื่อฆ่าตัวตาย เช่นนี้ วิญญูชนโดยปรกติย่อมไม่กล้าที่จะกระโดดลงไปโดยเสี่ยงชีวิตของตนเพื่อช่วยเหลือ ดังนั้น หากเราไม่ลงไปช่วยกฎหมายย่อมไม่คิดจะเอาผิดแต่อย่างใด

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีอาญา คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีอาญาหรือ จ้างทนายคดีอาญา คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด