ซื้อบ้านจากกรมบังคับคดี

#ทนายเล่าเรื่อง ซื้อบ้านจากกรมบังคับคดี

ถ้าเจ้าของเดิมไม่ยอมออก จะต้องทำอย่างไร!?

ซื้อบ้านจากกรมบังคับคดี

                  #ทนายเล่าเรื่อง ในวันนี้ เรามากับข่าวเดือดที่สะเทือนทั้งประเทศและสะเทือนไปถึงนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยเป็นเหตุการณ์ที่มีคนซื้อบ้านจากกรมบังคับคดี แต่เจ้าของเดิมไม่ยอมย้ายออกไปจากบ้าน ผู้ซื้อเลยเข้าไปคุยกับเจ้าของเดิมในบ้านคือเข้าไปในบ้านเลยครับ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีการเจรจามาหลายครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้ไม่รู้คุยท่าไหนแต่น่าจะคุยกันไม่รู้เรื่อง สุดท้ายผู้ซื้อถูกเจ้าของบ้านเดิมใช้ปืนยิง

                พอถูกยิงก็วิ่งออกมาจากบ้านมาล้มลงที่กลางถนนหน้าบ้าน จากนั้นจึงมีการพาไปส่งที่โรงพยาบาล แต่ไม่ทันครับ ผู้ซื้อคนนั้นเสียชีวิต เป็นเหตุการณ์ที่น่าสลดใจมากครับ สำหรับวันนี้ถ้าจะให้มาวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของเจ้าของบ้านเดิมมันก็อาจจะธรรมดาไปใช่ไหมครับ วันนี้ผมเลยจะเอาขั้นตอนหลังจากที่เราซื้อบ้านจากกรมบังคับคดีแล้วเจ้าของบ้านเดิมไม่ยอมย้ายออกไปมาเล่าให้ฟังกันครับ ถ้าพร้อมแล้ว ไปกันเลย

การบังคับคดีกับทรัพย์สิน

                ขอเกริ่นก่อนว่า การที่ทรัพย์สินจะถูกบังคับคดีได้ ทรัพย์สินนั้นจะต้องเป็นของลูกหนี้หรือมีการจำนองไว้ ถ้าลูกหนี้ถูกศาลพิพากษาให้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ แต่ลูกหนี้ไม่มีเงินจ่ายหนี้ตามคำพิพากษา โดยหลักก็จะต้องมีการบังคับคดีเอากับทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ต่อไปครับ
                ถ้าถึงขั้นนี้เจ้าหนี้ก็จะมีการไปสืบทรัพย์มาว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินอะไรที่จะเอามาบังคับคดีได้บ้าง พอเจอทรัพย์หรือกรณีนี้ก็คือบ้าน เจ้าหนี้ก็จะไปขอศาลออกหมายบังคับคดีแล้วตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์หรือบ้านของลูกหนี้

การขายทอดตลาด

               พอยึดทรัพย์เสร็จก็จะมีการประกาศขายทอดตลาดบ้านเพื่อที่จะขายแล้วนำเงินมาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ก็จะเปิดใหม่มีการเข้ามาสู้ราคากัน พอขายเสร็จเราก็จะได้ผู้ซื้อใหม่ จากนั้นก็จะมีการดำเนินการชำระเงินและโอนกรรมสิทธิ์กันต่อไปครับ

การขับไล่เจ้าของเดิมหลังซื้อทอดตลาดทรัพย์สิน

              ปัญหามันจะอยู่ตรงขั้นตอนนี้นี่แหละครับ ถ้าดำเนินการมาถึงขั้นนี้แล้ว แต่เจ้าของเดิมไม่ยอมออก เราก็มีทางแก้คือต้องขับไล่ครับ โดยผู้ซื้อใหม่จะต้องร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อขับไล่เจ้าของเดิมและบริวารออกจากบ้านดังกล่าว โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีขับไล่เป็นคดีใหม่เลยครับ ก็ร้องเข้าไปในคดีเดิมนั่นแหละ
               เมื่อได้หมายบังคับคดีมาก็ไปดำเนินเรื่องที่กรมบังคับคดีเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขับไล่เจ้าของเดิม ถ้าครบกำหนดตามประกาศแล้ว เจ้าของเดิมก็ยังไม่ยอมออกอีก ก็ให้ผู้ซื้อใหม่ยื่นคำร้องอีกครั้ง โดยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานศาลขอให้ออกหมายจับเจ้าของเดิม จากนั้นก็จับเจ้าของเดิมมาศาลเพื่อพูดคุยกันต่อไปครับ
               เป็นยังไงกันบ้างครับ ผมหวังว่าเนื้อหาในวันนี้จะเป็นประโยชน์กับใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะผู้ที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นะครับ อย่าเอาตัวเข้าไปเสี่ยงเลยครับ ให้ใช้วิธีการตามกฎหมายดีกว่า ถึงรีบยังไง แต่เสี่ยงชีวิตแบบนี้มันก็ไม่คุ้มครับ

รวมสาระที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับ #ทนายเล่าเรื่อง มาให้ชมกัน

ติดต่อ ปรึกษาทนาย หรือ จ้างทนาย คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด