บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่า กับการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร

#ทนายเล่าเรื่อง

บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าหรือการสลักหลังไว้หลังทะเบียนสามารถบังคับได้ตามนั้น

แม้จะไม่ระบุค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไว้ชัดเจน 

บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่า กับการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร

          #ทนายเล่าเรื่อง ในวันนี้ผมขอหยิบยกกรณีหย่าโดยสมัครใจและมีการทำบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าไว้ โดยไม่ได้เขียนเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูไว้ ว่าศาลฎีกาท่านจะวินิจฉัยไว้แบบไหน มาดูกันได้ครับ

           นางเอฟ้องขอให้บังคับนายบีชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นายบีใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ผู้เยาว์ให้แก่นางเอนับถึงวันฟ้องเป็นจำนวน 80,000 บาท และต่อไปให้นายบีจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (8 กุมภาพันธ์ 2539) เป็นต้นไปจนกว่าบุตรผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ

             นายบีอุทธรณ์ นางเอและนายบีฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า นางเอและนายบีเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรผู้เยาว์ 1 คน ต่อมาวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2535 นางเอและนายบีจดทะเบียนหย่าตามบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเอกสารหมาย ล.3 คดีจึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประเด็นแรกตามฎีกาของนายบีว่า นายบีต้องรับผิดจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์หรือไม่ เห็นว่า ภาระหน้าที่สำคัญของบิดามารดาที่มีต่อบุตรผู้เยาว์ได้แก่หน้าที่อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ตามประมวล ปพพ. มาตรา 1564 และภาระหน้าที่อันสำคัญยิ่งนี้มิได้หมดสิ้นไปเมื่อมีการจดทะเบียนหย่าตราบใดที่นายบียังมีอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้เป็นที่ยุติแล้วว่า ตามบันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนการหย่ามิได้กล่าวว่า ให้อำนาจปกครองบุตรอยู่กับนางเอหรือนายบี กรณีต้องถือว่านางเอและนายบีต่างเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรร่วมกันตามมาตรา 1566 วรรคหนึ่ง ส่วนในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรหากไม่มีตกลงไว้ เมื่อพิเคราะห์ข้อความตามบันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเอกสารหมาย ล.3 ในข้อ 3 ที่ว่า “คู่หย่าทั้งสองฝ่ายสาเหตุแห่งการหย่าเพราะทรรศนะไม่ตรงกันมีบุตรด้วยกัน 1 คน อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของมารดา” แล้วเห็นว่า ข้อความดังกล่าวไม่ใช่ข้อตกลงเรื่องออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเท่าใดตามมาตรา 1522 วรรคหนึ่งแต่อย่างใด ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจกำหนดให้นายบีออกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1522 วรรคสอง นอกจากนี้บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย ล.3 แม้เป็นสัญญาระหว่างนางเอและนายบี ซึ่งทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรก็มิได้ลบล้างหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของบิดามารดาที่มีต่อบุตรผู้เยาว์ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่านายบีต้องรับผิดจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ให้แก่นางเอนั้น ชอบแล้ว ฎีกาของนายบีฟังไม่ขึ้น

             ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของนางเอมีว่า นางเอเรียกให้นายบีรับผิดจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูย้อนหลังตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งเป็นปีที่นางเออ้างว่า นายบีไม่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 80,000 บาท นอกเหนือจากค่าอุปการะเลี้ยงดูนับแต่วันฟ้องเดือนละ5,000 บาท จนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะได้หรือไม่ ข้อนี้ เห็นว่า แม้บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าเอกสารหมาย ล.3 มิได้ระบุให้นายบีเป็นผู้ออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์เป็นจำนวนเงินเท่าใด ศาลก็ย่อมกำหนดจำนวนเงินให้ได้ตามสมควร ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นที่กำหนดให้ตามสมควรเป็นเงิน 80,000 บาท เพราะทั้งนางเอและนายบีต่างก็มีอาชีพเป็นหลักฐานมั่นคง แต่นายบีมีอาชีพเป็นทันตแพทย์ ย่อมมีรายได้ดีกว่านางเอที่มีอาชีพเป็นเภสัชกร ที่ศาลอุทธรณ์ไม่กำหนดเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์อีก 80,000 บาท ให้แก่นางเอนั้นไม่ชอบ ฎีกาของนางเอฟังขึ้น” พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

            จะเห็นได้ว่า แม้เป็นสัญญาระหว่างนางเอและนายบี ซึ่งทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรก็มิได้ลบล้างหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของบิดามารดาที่มีต่อบุตรผู้เยาว์ ศาลจึงมีอำนาจกำหนดให้นายบีออกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ตามมาตรา 1522 วรรคสอง นั้นเอง
            (อ้างอิง : ฎ.2971/2544)

รวมสาระที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับ #ทนายเล่าเรื่อง มาให้ชมกัน

ติดต่อ ปรึกษาทนาย หรือ จ้างทนาย คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด