ขออนุญาตยื่นคำให้การ

#ทนายเล่าเรื่อง ขออนุญาตยื่นคำให้การ กรณีขาดนัด
ถ้าจำเลยมาศาล แต่ไม่รีบบอกศาล
ศาลจะอนุญาตได้หรือไม่

ขออนุญาตยื่นคำให้การ

            วันนี้เราก็กลับมากับ #ทนายเล่าเรื่อง กันอีกแล้วนะครับ เรื่องในวันนี้ก็มาจากคดีที่ขึ้นไปถึงศาลฎีกา โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการขาดนัดยื่นคำให้การแล้วจำเลยต้องการมาขออนุญาตยื่นคำให้การ ศาลจะอนุญาตหรือไม่ ไปดูกันเลยครับ

           เรื่องนี้นาย ก. ฟ้อง นาย ข. เป็นจำเลยคดีเช็คครับ คือนาย ข. สั่งจ่ายเช็คให้นาย ก. แต่พอ นาย ก. เอาเช็คไปขึ้น ธนาคารกลับปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คโดยให้เหตุผลว่าบัญชีของนาย ข. ปิดไปแล้ว นาย ก. ก็ทวงให้นาย ข. จ่าย แต่นาย ข. ก็เพิกเฉย นาย ก.จึงฟ้องคดีครับ
           ปรากฏว่านาย ข. ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเรียบร้อย แต่นาย ข. ยื่นคำให้การช้าไป พ้นกำหนดเวลาไปแล้ว ศาลเลยสั่งไม่รับคำให้การและสั่งว่า นาย ข. จาดนัดยื่นคำให้การ จากนั้นศาลก็นัดสืบพยานโจทก์

             วันนัดสืบพยานโจทก์ ทนายของนาย ข. ที่ขาดนัดยื่นคำให้การก็มาศาลด้วย โดยตั้งใจที่จะมายื่นคำร้องว่าจำเลยไม่ได้จงใจขาดนัด ขอให้ศาลรับคำให้การจำเลยและเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ได้ทำมาแล้ว แต่พอเข้ามาในศาล และศาลขึ้นบัลลังก์แล้ว ทนายจำเลยก็ยังไม่ได้ยื่นคำร้องที่เตรียมมา แต่นั่งรอจนศาลสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วถึงยื่นคำร้องต่อศาลขออนุญาตยื่นคำให้การ สุดท้าย ศาลเห็นนาย ข. ได้ยื่นคำร้องเมื่อพ้นเวลาที่กฎหมายอนุญาตแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 วรรคแรก นาย ข. จะมาเถียงว่าไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขอยื่นคำให้การอีกไม่ได้

            คำถามคือการที่ทนายของนาย ข. นั่งรอจนศาลสืบพยานนาย ก. เสร็จถึงจะยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ แบบนี้ทนายของนาย ข. ทำผิดจริงหรือไม่ กรณีนี้เราต้องดูตามมาตรา 199 ที่มีหลักในการพิจารณาคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การดังนี้
1. จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การมาศาลก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี
2.แจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะต่อสู้คดี
3.การขาดนัดยื่นคำให้การนั้นไม่ได้ทำโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควร

            กรณีนี้จะเห็นว่านาย ข. เป็นจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การมาศาลในวันนัดสืบพยานนาย ก. ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ศาลวินิจฉัยชี้ขาดหรือก็คือยังสืบพยานไม่เสร็จ โดยอ้างเหตุว่านาย ข. ไม่ได้จงใจขาดนัด ซึ่งในเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับศาลว่าจะมองว่ายังไง แต่ที่เป็นประเด็นเลยคือเรื่องแจ้งต่อศาลในโอกาสแรกนี่แหละครับ เราจะเห็นว่าทนายของนาย ข. มาศาลจริง ตั้งใจมาเพื่อต่อสู้คดีและยื่นคำร้องเลย แต่ว่าทนายของนาย ข. กลับนั่งรอจนศาลสืบพยานโจทก์เสร็จ กรณีแบบนี้ศาลจะมองว่าทนายของนาย ข. ไม่ได้แจ้งต่อศาลในโอกาสแรกครับ ทำให้ไม่เข้ากรณีที่ศาลจะอนุญาตได้นั่นเอง

            ดังนั้นถ้าเราขาดนัดยื่นคำให้การและเราต้องการยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ ถ้าเราไปศาล และศาลขึ้นบัลลังก์พิจารณาให้แจ้งต่อศาลทันทีโดยที่ไม่ต้องรออะไรเลย เอาง่ายๆ คือคุณเจอหน้าศาลเมื่อไหร่ คุณต้องแจ้งเมื่อนั้น แบบนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นการแจ้งในโอกาสแรกนั่นเองครับ และเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของเรา ศาลไม่มีหน้าที่ถามด้วย ดังนั้นจะมาอ้างว่าศาลไม่ได้บอกไม่ได้นะครับ

รวมสาระที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับ #ทนายเล่าเรื่อง มาให้ชมกัน

ติดต่อ ปรึกษาทนาย หรือ จ้างทนาย คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด