หมิ่นประมาทที่ไม่ได้เอ่ยชื่อ เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่?

#ทนายเล่าเรื่อง วันนี้เรามากับคดีหมิ่นประมาทที่ถ้อยคำไม่ได้เอ่ยชื่อ ไม่ได้กล่าวถึง ไม่ได้บอกว่าเป็นใคร จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ วันนี้ไปดูกันครับ

หมิ่นประมาทที่ไม่ได้เอ่ยชื่อ เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่?

              กลับมากันอีกแล้วกับ ทนายเล่าเรื่องในวันนี้ เรามากับคดีหมิ่นประมาทที่ถ้อยคำไม่ได้เอ่ยชื่อ ไม่ได้บอกว่าเป็นใคร จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ไปดูกันครับว่าศาลจะตัดสินว่ายังไง

            คดีนี้ นายกล้วยเป็นนักเขียน/ข่าว ทำงานเขียนข่าวและบทความลงเว็บไซต์ “ข่าวดิบ” โดยเขียนข้อความตามที่ถูกฟ้องว่า “รองบัญญัติรับงานเมื่อไหร่คงต้องถามไถ่กันเรื่องแต่งตั้ง 3 รอง ผบ.ตร. ที่เสธ.หนั่นพยายามจะทำเป็นงานชิ้นสุดท้ายก่อนตกเก้าอี้ จะเดินหน้าแต่งตั้งหรือชะลอออกไปก่อน แต่ที่แน่ๆ หากมีการทำโผ 3 พล.ต.อ.ใหม่ คงไม่มีประเภทใช้เวลาราชการไปสะสางเรื่องส่วนตัวเช้าจรดเย็นแล้วจะได้เลื่อนขั้นเป็นใหญ่เป็นโต เพราะยุคบัญญัติคงไม่มี “ที่ปรึกษา” อำนาจล้นฟ้าเต็มแผ่นดินมาล้วงโผตำรวจ เป็นแน่”

            ซึ่งโจทก์ในคดีนี้คือ นายดำ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม นายดำรู้สึกว่าถ้อยคำที่นายกล้วยเขียนไว้เป็นการหมิ่นประมาท ทำให้ตนเสียชื่อเสียง นายดำจึงฟ้องนายกล้วยเป็นคดีหมิ่นประมาทต่อศาล โดยประเด็นของคดีนี้ที่ผมอยากให้ดูก็คือ เรื่องที่บทความไม่ได้ระบุชื่อครับ โดยนายดำอ้างมาว่า แม้บทความจะมิได้ระบุชื่อนายดำ แต่นายกล้วยก็มีเจตนาให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าเป็นนายดำเนื่องจากนายกล้วยเคยเขียนบทความทำนองเดียวกันนี้มาโดยตลอด โดยในช่วงเวลาที่นายกล้วยเสนอบทความดังกล่าวนั้นอยู่ใกล้วาระที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจจะพิจารณาแต่งตั้งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งนายดำอยู่ในฐานะจะได้รับการพิจารณาเช่นกัน

            สุดท้ายมีปัญหามาถึงชั้นฎีกาว่า ในคดีหมิ่นประมาทนั้น การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม จนทำให้ผู้นั้นต้องเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น จะต้องได้ความว่า การใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันแน่นอน หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรงการใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดโดยเฉพาะ แต่บทความที่นายกล้วยโพสต์นั้นก็เป็นข้อความทั่วไปๆ ไปที่วิจารณ์การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจเกี่ยวกับการคัดเลือกตัวบุคคลที่จะเข้ารับตำแหน่งสำคัญในสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าควรเป็นบุคคลที่อุทิศตนเพื่อทางราชการ โดยไม่มีข้อความใดที่ทำให้ผู้อ่านบทความบนเว็บไซต์ข่าวดิบเข้าใจว่า เจ้าพนักงานตำรวจที่ใช้เวลาราชการไปสะสางเรื่องส่วนตัวตั้งแต่เช้าจนเย็นเป็นตัวนายดำ เนื่องจากข้าราชการที่ประพฤติปฏิบัติตัวเช่นนั้น ไม่ได้มีแต่ข้าราชการตำรวจ แต่ยังมีเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายอื่นอีกเป็นจำนวนมากที่มิได้อุทิศตนให้แก่ทางราชการ ดังนั้น ตัวบทความตามฟ้องจึงไม่ได้ทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าข้อความในบทความคือนายดำ การกระทำของนายกล้วยจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทครับ
          อ้างอิง : ฎ.3717/2547

รวมสาระที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับ #ทนายเล่าเรื่อง มาให้ชมกัน

ติดต่อ ปรึกษาทนาย หรือ จ้างทนาย คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด