คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องฯ ถ้าคดีอาญาระงับ จะเรียกให้ชดใช้เงินคืนได้หรือไม่

#ทนายเล่าเรื่อง

เมื่อมีการฟ้องคดีในส่วนแพ่งซึ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
แม้คดีอาญาจะระงับไป จะมีอำนาจฟ้องได้หรือไม่

คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องฯ ถ้าคดีอาญาระงับ จะเรียกให้ชดใช้เงินคืนได้หรือไม่

            #ทนายเล่าเรื่อง ในวันนี้ผมขอหยิบยกการฟ้องคดีฟ้องคดีในส่วนแพ่งซึ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ให้ชดใช้เงินที่ร่วมกันฉ้อโกงไปพร้อมดอกเบี้ยคืน ว่าคดีดังกล่าวมีอำนาจฟ้องได้หรือไม่ และศาลตัดสินว่าอย่างไรครับ

            เรื่องมีอยู่ว่าการที่นางดาวรับฟังจากนายหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนของนางดาว แนะนำว่านายสองสามารถฝากผู้เข้าสอบเข้ารับราชการเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรได้ โดยไม่ปรากฏว่านายหนึ่งและนายสองแสดงออกให้ปรากฎแก่ประชาชนทั่วไปถึงเรื่องดังกล่าวอย่างไร เมื่อนายสามไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องด้วยกับการกระทำความผิดของนายหนึ่งและนายสอง และมิได้ร่วมมือกับนายหนึ่งและนายสอง โดยรับหน้าที่ให้มากระจายข่าวในหมู่ผู้เข้าสอบให้แพร่หลาย เมื่อนางดาวไปพบกับนายหนึ่งและนายสองที่บ้าน เพื่อให้ช่วยเหลือนายเอและนายบีทั้งสองคนในการเข้ารับราชการตำรวจ โดยยอมเสียค่าใช้จ่ายตามที่นายหนึ่งและนายสองเรียกร้อง เห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่นายหนึ่งและนายสองร่วมกันหลอกลวงนายเอและนายบีเป็นการส่วนตัวเท่านั้น หาได้มีพฤติการณ์อันเป็นการหลอกลวงประชาชนโดยทั่วไปไม่ การกระทำของนายหนึ่งและนายสองเป็นเพียงความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341

           นายเอและนายบีทราบการกระทำความผิดของนายหนึ่งและนายสอง เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2558 นายเอและนายบีฟ้องนายหนึ่งและนายสอง เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 จึงล่วงเลยกำหนดระยะเวลา 3 เดือน จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของนายเอและนายบีย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ส่วนคำขอในส่วนแพ่งเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามมาตรา 46 เมื่อคำพิพากษาส่วนอาญาวินิจฉัยว่านายหนึ่งและนายสองร่วมกันฉ้อโกงนายเอและนายบีจริง เมื่อนายหนึ่งและนายสองให้การรับสารภาพเท่ากับรับว่าร่วมกันฉ้อโกงนายเอและนายบี คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่านายหนึ่งและนายสองต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 วรรคหนึ่ง เงินที่นายเอและนายบีจ่ายให้นายหนึ่งและนายสองไป จึงไม่มีลักษณะเป็นสินบนเพื่อจูงใจเจ้าพนักงานอื่นกระทำการใดๆเพื่อช่วยเหลือนายเอและนายบีโดยมิชอบ แต่มีลักษณะเป็นสินน้ำใจที่สมนาคุณแก่นายหนึ่งและนายสองที่ช่วยเหลือทำให้นายเอและนายบีสามารถบรรจุเข้ารับราชการได้ตามที่นายหนึ่งและนายสองหลอกลวง นายเอและนายบีจึงมีอำนาจฟ้องคดีในส่วนแพ่งซึ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเรียกร้องให้นายหนึ่งและนายสองร่วมกันชดใช้เงินที่ร่วมกันฉ้อโกงไปพร้อมดอกเบี้ยให้แก่นายเอและนายบีได้

           จะเห็นได้ว่า การกระทำดังกล่าวของนายหนึ่งและนายสองเป็นเพียงความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 มิได้เป็นการกระทำอันจะเป็นการฉ้อโกงประชาชน ในลักษณะของการหลอกลวงที่แสดงออกด้วยข้อความอันเท็จ โดยมุ่งหมายให้แพร่หลายทั่วไปในหมู่ประชาชนไม่ และในการหลอกลวงดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นสินบนเพื่อจูงใจเจ้าพนักงานอื่นกระทำการใดๆเพื่อช่วยเหลือนายเอและนายบีโดยมิชอบ แม้การฟ้องในคดีอาญาจะขาดอายุความ แต่ว่านายเอและนายบีมีอำนาจฟ้องคดีในส่วนแพ่งซึ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเรียกร้องให้นายหนึ่งและนายสองร่วมกันชดใช้เงินที่ร่วมกันฉ้อโกงไปพร้อมดอกเบี้ยให้แก่นายเอและนายบีได้
            (อ้างอิงฎีกาที่ 5302/2562)

รวมสาระที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับ #ทนายเล่าเรื่อง มาให้ชมกัน

ติดต่อ ปรึกษาทนาย หรือ จ้างทนาย คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด