ฉ้อโกงหรือผิดสัญญา

#ทนายเล่าเรื่อง มาอีกแล้วครับ วันนี้เราก็มากับคดีที่ขึ้นไปสู่ชั้นฎีกากันอีกแล้ว เรื่องในวันนี้เป็นเรื่องระหว่างเป็น ฉ้อโกงหรือผิดสัญญา ทางแพ่งที่ผลจะต่างกันลิบลับเลยเพราะถ้าเป็นฉ้อโกงก็อาจถูกจำคุก

ฉ้อโกงหรือผิดสัญญา

ชี้จุดต่าง ฉ้อโกง VS ผิดสัญญา

                      #ทนายเล่าเรื่อง มาอีกแล้วครับ วันนี้เราก็มากับคดีที่ขึ้นไปสู่ชั้นฎีกากันอีกแล้ว เรื่องในวันนี้เป็นเรื่องระหว่างเป็นฉ้อโกงหรือเป็นแค่ผิดสัญญาทางแพ่งที่ผลจะต่างกันลิบลับเลยเพราะถ้าเป็นฉ้อโกงก็อาจถูกจำคุก แต่ถ้าโดนแค่ผิดสัญญาทางแพ่งแบบนี้ถ้าแพ้ก็แค่ต้องปฏิบัติตามสัญญาครับ

                    เราไปดูกันเลยดีกว่าว่าศาลใช้หลักการแบบไหนในการมาดูว่าแบบไหนฉ้อโกง แบบไหนแค่ผิดสัญญาทางแพ่ง
เรื่องนี้พนักงานอัยการ (ขออนุญาตเรียกว่าอัยการเฉยๆ นะครับ) ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัด ข. และนาย ก. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและแสดงตัวต่อประชาชนทั่วไปว่าเป็นเจ้าของห้างหุ้นส่วนดังกล่าว เป็นจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 ประกอบมาตรา 341 ครับ เรื่องก็คือ นาย ก. จัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ข. เพื่อหลอกลวงคนทั่วไปและผู้เสียหายว่าทำกิจการจัดสรรที่ดินและปลูกบ้านบนที่ดิน ซึ่งได้มีการทำใบปลิวโฆษณาแจกคนทั่วไปในชื่อโครงการประกอบทรัพย์การ์เด้นท์โฮมโครงการ 3 โดยห้างฯ ข. และนาย ก. ร่วมกันหลอกลวงว่าจะนำที่ดินโฉนดเลขที่ 5298 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของห้างฯ ข.และนาย ก. มาจัดสรรเป็นแปลง ๆ แบ่งขายให้แก่ผู้สนใจโดยทั่วไปซึ่งไม่ใช่ความจริง ความจริงแล้วที่ดินแปลงดังกล่าวที่ห้างฯ ข. และนาย ก. นำมาจัดสรรไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของทั้งสองหรือก็คือห้างฯ ข. และนาย ก. ไม่ใช่เจ้าของที่ดินแปลง 5298 แต่ที่ดินนี้เป็นของคนอื่น และด้วยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงตกลงซื้อที่ดินในโครงการของห้างฯ ข. และนาย ก.

                  ตัวสัญญาที่ผู้เสียหายทำกับห้างฯ ข. และนาย ก. เป็นสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งผู้จะขายหรือก็คือห้างฯ ข. และนาย ก. ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในขณะที่ทำสัญญา แค่พอถึงกำหนดก็จะต้องนำทรัพย์มาโอนให้แก่ผู้ซื้อให้ได้ก็เพียงพอแล้วครับ และผู้เสียหายก็รู้อยู่แล้วตั้งแต่ตอนที่ซื้อแล้วด้วยว่าขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายกันที่ดินยังเป็นของบุคคลอื่นอยู่ ซึ่งที่ดิน 5298 ก็มีอยู่จริง และห้างฯ ข. และนาย ก. ก็เป็นผู้จะซื้อที่ดินนั้นในสัญญาที่ทำกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตัวจริงด้วย การกระทำของห้าง ข. และนาย ก. จึงเป็นเพียงการผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น ไม่เป็นฉ้อโกง

                  จะเห็นนะครับว่าถ้าจะเข้าฉ้อโกงได้คือ ที่ดินที่ห้างฯ ข. และนาย ก. อ้างไม่มีอยู่จริง แม้มีอยู่จริง แต่ถ้าไม่ปรากฏว่าห้างฯ ข. และนาย ก. กำลังดำเนินการซื้อที่ดิน หรือหนีหายไปเลยหลังจากที่ได้รับเงิน แบบนี้ก็อาจจะเข้าฉ้อโกงได้ครับ

                ผมสรุปให้เล็กน้อยนะครับ ความแตกต่างชัดเจนของฉ้อโกงกับการผิดสัญญาทางแพ่งคือ เจตนาตั้งแต่เริ่มแรกครับ ถ้าเริ่มแรกไม่มีที่ดินเลยและไม่ได้จะขายที่ดินอะไรอยู่แล้ว ไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาและปฏิบัติตามสัญญากันอยู่แล้ว แบบนี้ฉ้อโกงแน่นอนครับ แต่ถ้าจะเป็นผิดสัญญาคือ ห้างฯ ข.และนาย ก. มีเจตนาจะจัดสรรที่ดินขายอยู่แล้ว แค่ดำเนินเรื่องช้าจนโดนฟ้อง แบบนี้ก็เป็นแค่การผิดสัญญานั่นเองครับ ดังนั้นถ้าในการสู้คดีถ้าเราไม่ได้จะโกงจริงๆ แล้วนำสืบได้ว่าไม่ได้มีเจตนาหลอกลวงตั้งแต่แรก แบบนี้ก็มีโอกาสยกฟ้องสูงครับ
                อ้างอิง : ฎ.1674/2543

รวมสาระที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับ #ทนายเล่าเรื่อง มาให้ชมกัน

ติดต่อ ปรึกษาทนาย หรือ จ้างทนาย คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด