ผู้จำนองตาย ผู้รับจำนองต้องบอกกล่าวบังคับจำนองหรือไม่

#ทนายเล่าเรื่อง

การฟ้องบังคับจำนอง
กฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นจดหมายหรือหนังสือ
และต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน

ผู้จำนองตาย ผู้รับจำนองต้องบอกกล่าวบังคับจำนองหรือไม่

            #ทนายเล่าเรื่อง ในวันนี้ผมขอหยิบยกประเด็นที่เกี่ยวกับอำนาจฟ้องคดีในประเด็นฟ้องบังคับจำนองมาเล่าให้ฟังครับ ว่าในกรณีแบบนี้ถือว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับจำนองได้หรือไม่ มาดูกันได้เลยครับ

             เรื่องมีอยู่ว่า…นายวันฟ้องขอให้บังคับนายหนึ่ง,นายสอง,นายสามและนายสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,028,850.43 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 25 ต่อปี ของเงินต้น 496,773.97 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น หากทั้งสี่ไม่ชำระเงินหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้นายวัน ถ้าไม่พอชำระ ให้ยึดหรือบังคับคดีเอากับทรัพย์สินอื่นของทั้งสี่และทรัพย์สินในกองมรดกของนางห้าผู้ตายเพื่อนำเงินมาชำระหนี้นายวันจนครบถ้วน ซึ่งทั้งสี่ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,028,850.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 25 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 496,773.97 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายวัน ทั้งนี้นายสาม และนายสี่ ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน

             นายวันอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
             ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นายหนึ่งและนายสอง ทำสัญญากู้เงินจากนายวันจำนวน 500,000 บาท ยินยอมให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี… โดยมีนางห้าทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำนองที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 44107ตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงรายพร้อมสิ่งปลูกสร้างต่อนายวันเป็นประกันหนี้ โดยช่วงที่ไม่มีการชำระหนี้ให้แก่นายวัน นายวันได้มีการส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบอกกล่าวกล่าวบังคับจำนองไป ภายหลังนายวันจึงทราบว่านางห้าถึงแก่กรรมแล้ว โดยนางห้ามีบุตรที่ชอบกฎหมายและมีสิทธิรับมรดกได้ คือ นายสามและนายสี่ นายวันจึงฟ้องบังคับจำนองเอาแก่นายสามและนายสี่ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่านายวันบอกกล่าวบังคับจำนองหลังจากนางห้าถึงแก่กรรมแล้ว ถือว่านายวันยังมิได้บอกกล่าวบังคับจำนอง จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำนอง

              นายวันอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาข้อแรกว่า นายวันบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังนางห้าลูกหนี้ผู้จำนองในขณะที่นายวันไม่ทราบว่านางสุนาถึงแก่กรรมแล้ว ปรากฏว่ามีผู้รับหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแทนผู้ตาย จึงถือได้ว่านายวันได้บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังลูกหนี้ผู้จำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728 แล้ว ซึ่งศาลฎีกามองว่า แม้จะมีผู้อื่นรับหนังสือนั้นไว้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองที่ชอบด้วยกฎหมายอุทธรณ์นายวันข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

               โจทก์อุทธรณ์ข้อหลังว่า ในกรณีที่ลูกหนี้ผู้จำนองถึงแก่กรรมโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวบังคับจำนองหรือถ้าจะต้องบอกกล่าวบังคับจำนองการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ก็ถือว่าเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า การที่นายวันฟ้องนายสามและนายสี่ เป็นคดีนี้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองตามกฎหมาย นายวันจึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำนอง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น” ศาลฎีกาพิพากษายืน

                จะเห็นได้ว่า การบอกกล่าวบังคับจำนอง ต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือและมีการส่งเป็นหนังสือก่อนที่ผู้รับหนังสือจะถึงแก่ชีวิต แม้จะมีผู้รับไว้โดยชอบก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองที่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งการที่บังคับจำนองเอาแก่ทายาท ก่อนฟ้องคดีก็ต้องทำเป็นหนังสือไปแจ้งทายาทด้วยเช่นกัน ซึ่งนายวันต้องบอกกล่าวแก่บุคคลดังกล่าวซึ่งเป็นเสมือนผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนอง การบอกกล่าวนี้กฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นจดหมายหรือหนังสือ และต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน นายวันจึงจะฟ้องบังคับจำนองได้
              (อ้างอิง : ฏ.5553/2542) 

รวมสาระที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับ #ทนายเล่าเรื่อง มาให้ชมกัน

ติดต่อ ปรึกษาทนาย หรือ จ้างทนาย คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด