ลูกจ้างทำละเมิด กรณีไหนนายจ้างไม่ต้องรับผิด

นายจ้างต้องรู้!! ลูกจ้างขับรถบริษัทไปชน
หลังจากทำงานของตัวเองเสร็จแล้ว
นายจ้างต้องร่วมรับผิดหรือไม่?

ลูกจ้างทำละเมิด กรณีไหนนายจ้างไม่ต้องรับผิด

ลูกจ้างทำละเมิด กรณีไหนนายจ้างไม่ต้องรับผิด

                    #ทนายเล่าเรื่อง ในวันนี้เรามาในกับคดีละเมิดที่ใครเป็นนายจ้างจะต้องรู้เอาไว้เลยครับ สำหรับคดีวันนี้เป็นเรื่องที่ลูกจ้างขับรถไปชนรถคันอื่น ซึ่งตามกฎหมายถ้าลูกจ้างทำละเมิดในทางการที่จ้าง นายจ้างก็จะต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างด้วย ซึ่งเรื่องในวันนี้เราจะพามาดูว่ากรณีแบบนี้เป็นการทำละเมิดในทางการที่จ้างซึ่งนายจ้างจะต้องรับผิดร่วมด้วยหรือไม่ ไปดูกันเลยครับ

                  คดีนี้ นายเอทำงานเป็นพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้ขับรถที่ใช้ในราชการของ ป.ป.ส. ออกไปประชุมงานตามที่ได้รับมอบหมายมา พอประชุมเสร็จ นายเอก็ขับรถกลับมาที่สำนักงาน ป.ป.ส. หลังจากนั้นอีก 13 ชั่วโมง นายเอก็ได้ขับรถออกไปอีกครั้ง แต่ด้วยความเร่งรีบ นายเอจึงได้ขับรถด้วยความเร็วและพยายามแซงหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายนายเอได้ขับด้วยความเร็วแซงซ้ายขึ้นไปโดยที่ไม่ทันเห็นรถของนายบีที่จอดเปิดไฟฉุกเฉินอยู่ข้างทาง ซึ่งขณะแซงและเห็นรถของนายบีนั้นระยะห่างระหว่างรถที่นายเอขับกับรถของนายบีอยู่ที่ประมาณ 100 เมตร นายเอเห็นก็ตกใจรีบเหยียบเบรกทันที แต่รถที่นายเอขับหยุดไม่ทัน ชนเข้ากับท้ายรถของนายบีเต็มๆ จนเป็นเหตุให้นายบีฟ้องนายเอเป็นคดีละเมิดเรียกค่าเสียหาย โดยฟ้อง ป.ป.ส. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นนายจ้างของนายเอเข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีด้วย

                    โดย ป.ป.ส. ก็ยื่นคำให้การต่อสู้มาว่าที่นายเอไปทำละเมิดนั้นไม่ได้ทำไปในทางการที่จ้าง แต่เอาไปรถของ ป.ป.ส. ไปใช้ในกิจการส่วนตัว เราไปดูกันเลยครับว่าศาลจะมองเรื่องนี้ว่ายังไง
                    ศาลมองว่า นายเอทำละเมิดต่อนายบี (อันนี้ก็แน่นอนอยู่แล้ว) ส่วนการที่นายเอขับรถยนต์ไปปฏิบัติงานของ ป.ป.ส. จนเสร็จและขับกลับมายังสำนักงาน ป.ป.ส. แล้ว หน้าที่ของนายเอเหลือเพียงขับรถเข้าไปเก็บที่ลานจอดรถด้านหลังสำนักงานเท่านั้น ไม่มีราชการให้นายเอขับรถไปอีก โดยเหตุที่ชนกันเกิดห่างจากสำนักงาน ป.ป.ส. ไกลมาก และขณะเกิดเหตุเวลา 1 นาฬิกา เป็นเวลาหลังจากที่นายเอขับรถกลับจากปฏิบัติงานตามคำสั่งมาถึงสำนักงาน ป.ป.ส. แล้วเป็นเวลา 13 ชั่วโมง จึงไม่ใช่การที่นายเอขับรถไปเพื่อนำเข้าเก็บ แต่นายเอขับรถไปในกิจการส่วนตัวของนายเอเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจการของ ป.ป.ส. หรือเพื่อที่จะปฏิบัติงานในหน้าที่ให้แก่ ป.ป.ส. เลย

                โดย ป.ป.ส. มีระเบียบว่าด้วยการใช้และรักษารถราชการกำหนดไว้ว่า ผู้ใดขับรถหรือนำรถส่วนกลางไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจถือเป็นการกระทำผิดวินัยข้าราชการ หลังจากนายเอนำรถกลับถึงสำนักงาน ฝ่ายที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการใช้รถของ ป.ป.ส. ได้ถามหานายเอ แต่ก็ไม่พบทั้งตัวนายเอเองและรถจนเลิกงานจึงได้สั่งให้ยามซึ่งเป็นผู้ดูแลกุญแจรถให้บันทึกไว้ว่า นายเอนำรถไปที่ไหนหลังจากกลับถึงสำนักงาน แสดงว่า ป.ป.ส. ได้ควบคุมดูแลการใช้รถอย่างใกล้ชิด ไม่ได้ยินยอมให้ใครนำรถไปใช้โดยพลการ ซึ่งการที่จะให้นายจ้างเฝ้าจับตามองลูกจ้างคนขับรถของตนอยู่ตลอดเวลาก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจทำได้ การที่ลูกจ้างฉวยโอกาสขับรถไปใช้ในกิจการส่วนตัวแล้วก่อเหตุละเมิดขึ้น จะถือว่าลูกจ้างกระทำในทางการที่จ้างไม่ได้

                กรณีนี้คือจะเห็นได้ชัดเลยครับว่า นายเอทำงานของตัวเองเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไม่มีงานอื่นให้ต้องเอารถไปใช้ ประกอบกับคนที่ดูแลเรื่องรถก็ได้มาติดตามดูแลรถแล้ว แบบนี้นายจ้างได้ทำหน้าที่ในการดูแลรถอย่างเต็มที่แล้ว คดีนี้ ป.ป.ส. จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับนายเอซึ่งเป็นลูกจ้างนั่นเอง
                อ้างอิง : ฎ 4191/2533

รวมสาระที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับ #ทนายเล่าเรื่อง มาให้ชมกัน

ติดต่อ ปรึกษาทนาย หรือ จ้างทนาย คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด