ภาระจำยอม ไม่จดทะเบียนมีผลอย่างไร
ภาระจำยอม ไม่จดทะเบียนมีผลอย่างไร ภาระจำยอมที่มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย ต้องจดทะเบี
#ทนายเล่าเรื่อง
กรณีนี้ผู้เช่าตาย แต่สัญญากลับไม่ระงับ
จะเป็นกรณีแบบไหน ไปดูพร้อม ๆ กันเลยครับ
#ทนายเล่าเรื่อง วันนี้เรามากับคดีตามสัญญาเช่ากันบ้างครับ คือโดยหลักแล้วสัญญาเช่าเป็นสัญญาที่เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่า ถ้าผู้เช่าตาย โดยหลักสัญญาก็จะระงับไปครับ แต่คดีนี้แม้ผู้เช่าตาย สัญญาก็ไม่ระงับครับ ทายาทยังสามารถมารับช่วงเช่าต่อไปได้ แล้วทำไมคดีนี้สัญญาเช่าถึงไม่ระงับไป เรามาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันเลยครับ
คดีนี้ นายมดเป็นเจ้าของที่ดิน 123 นางผึ้งได้มาขอเช่าที่ดินดังกล่าวกับนายต่อเพื่อทำธุรกิจ ทั้งสองจึงตกลงทำสัญญาเช่าที่ดินกัน โดยการเช่ามีกำหนด 30 ปีเพื่อจะได้ปลูกสร้างอาคารสำหรับทำธุรกิจของนางผึ้ง โดยนางผึ้งมีบริวารที่เข้ามาอยู่อาศัยอีก 2 คนซึ่งเป็นลูก คือ ด.ช.ต่อ และด.ญ.แตน และในสัญญามีการกำหนดว่านายมดผู้ให้เช่าให้นางผึ้งผู้เช่าเอาที่ดินไปให้เช่าช่วงได้ และก็ได้มีการจ่ายค่าเช่ากันมาโดยตลอด พอเช่ากันได้แล้ว 20 ปีปรากฏว่า นางผึ้งถึงแก่ความตาย นายมดจึงได้มีการให้ทนายส่งหนังสือแจ้งขับไล่และฟ้องคดีขับไล่นายต่อและนางสาวแตนให้ออกไปจากที่ดินโดยอ้างเหตุว่า เมื่อผู้เช่าถึงแก่ความตาย สัญญาเช่าย่อมระงับไปด้วย
ข้อเท็จจริงคร่าว ๆ ก็จะเป็นประมาณนี้นะครับ แต่หลายคนก็อาจจะสงสัยว่าถ้าตามหลักกฎหมายแล้ว ก็ถูกต้องแล้วไม่ใช่เหรอที่ผู้เช่าตาย สัญญาก็ระงับ แต่ถ้าใช่ผมคงไม่เอามาเล่าให้ฟังหรอกครับ โดยคดีนี้ต้องเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลยนะครับ อยากรู้ว่าเรื่องนี้จะออกมาแบบไหนแล้วใช่ไหมล่ะครับ ถ้าพร้อมแล้ว เราไปต่อกันเลยครับ
คดีนี้ศาลเห็นว่า แม้สิทธิการเช่าจะเป็นสิทธิเฉพาะตัว ผู้เช่าจะให้เช่าช่วงหรือโอนสิทธิของตนในทรัพย์สินไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่บุคคลภายนอกไม่ได้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาเช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 544 ก็ตาม แต่นายต่อและนางสาวแตนเป็นทายาทของนางผึ้ง จึงไม่ใช่บุคคลภายนอกตามมาตรา 544 สามารถรับโอนสิทธิการเช่าได้ ประกอบกับในสัญญาเช่ามีข้อสัญญาที่ว่า ผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าเอาที่ดินที่เช่าไปให้เช่าช่วงได้ ซึ่งเป็นการตกลงยกเว้นมาตราดังกล่าวไม่ให้สิทธิการเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัว แต่ให้เป็นสิทธิในทรัพย์สินให้โอนได้ให้เช่าช่วงได้ และตามสัญญาเช่าก็กำหนดระยะเวลา 30 ปี ไม่ได้มีกำหนดระยะเวลาเช่าตลอดชีวิตของผู้เช่าหรือตกลงว่าหากผู้เช่าตาย สัญญาเป็นอันระงับ จึงเป็นการถือกำหนดระยะเวลา 30 ปีเป็นสำคัญ
จึงเห็นได้ว่า สัญญาเช่าในคดีนี้ไม่ได้ถือเอาคุณสมบัติของผู้เช่าเป็นสาระสำคัญ นายมดจึงต้องรับไปทั้งสิทธิหน้าที่ที่มีต่อนายต่อและนางสาวแตนที่เป็นทายาทของนางผึ้งโดยตรง สิทธิในการเช่าจึงไม่สิ้นสุดลง เมื่อสิทธิการเช่ายังไม่ครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญา นายมดจึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่นายต่อและนางสาวแตนให้ออกจากที่ดินได้
เป็นยังไงกันบ้างครับกับคดีนี้ จะพูดว่าแค่กำหนดในสัญญาว่า ผู้เช่าสามารถนำทรัพย์สินที่เช่าให้เช่าช่วงได้ จนทำให้สัญญาเช่ากรณีนี้ไม่เป็นสิทธิเฉพาะตัวก็ไม่เชิงนะครับ เพราะศาลดูในเรื่องกำหนดระยะเวลาการเช่าอีกว่า สัญญาเช่ามีกำหนดระยะเวลา 30 ปี ที่ไม่ได้กำหนดตลอดชีวิตของนางผึ้ง จึงถือเอาระยะเวลาเช่าเป็นสาระสำคัญ เมื่อพิจารณารวม ๆ แล้วจึงไม่ถือว่า สัญญาเช่าเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เช่า เมื่อผู้เช่าตาย สัญญาจึงไม่ระงับไปครับ
อ้างอิง : ฎ.11058/2559
รวมสาระที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับ #ทนายเล่าเรื่อง มาให้ชมกัน
ติดต่อ ปรึกษาทนาย หรือ จ้างทนาย คลิก!
ภาระจำยอม ไม่จดทะเบียนมีผลอย่างไร ภาระจำยอมที่มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย ต้องจดทะเบี
ผู้จัดการมรดกสามารถขายที่ดินได้ไหม #ก่อนจัดการมรดกต้องรู้ผู้จัดการมรดกสามารถขายท
คดีอุบัติเหตุ ดำเนินคดีอะไรได้บ้าง และผู้ฟ้องต้องพิสูจน์คดีอย่างไร หากเกิดอุบัติ
ถ้าฟ้องบังคับจำนองเกิน 10 ปี ผลเป็นอย่างไร ถ้าศาลพิพากษาแล้ว ปรากฏว่าเจ้าหนี้ไม่