เจ้าหนี้ไม่ส่งหนังสือทวงถามให้ผู้ค้ำประกันก่อนฟ้อง

#ทนายเล่าเรื่อง
ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัด ถ้าเจ้าหนี้ไม่ส่งหนังสือทวงถามให้ผู้ค้ำประกัน
เจ้าหนี้ฟ้องผู้ค้ำได้หรือไม่?

เจ้าหนี้ไม่ส่งหนังสือทวงถามให้ผู้ค้ำประกันก่อนฟ้อง

             #ทนายเล่าเรื่อง วันนี้เรามากับคดีที่เกี่ยวกับการค้ำประกันครับ โดยหลักกฎหมายที่สำคัญในคดีนี้จะเกี่ยวกับการกำหนดคุ้มครองผู้ค้ำประกัน โดยปกติก่อนฟ้องในคดีกู้ยืม เจ้าหนี้จะต้องส่งหนังสือทวงถามถึงลูกหนี้ก่อนใช่ไหมครับ แต่ถ้าการกู้นั้นมีผู้ค้ำประกันล่ะ เจ้าหนี้ต้องส่งหนังสือทวงถามถึงผู้ค้ำประกันด้วยหรือไม่? ถ้าใครยังไม่ทราบ เราไปติดตามคดีนี้ไปพร้อมๆ กันเลยครับ

               คดีนี้ นางยูไปกู้เงินนางจินเป็นเงิน 3 ล้านบาท ด้วยความที่เงินมีจำนวนมาก นางจินจึงให้นางยูไปหาคนมาค้ำประกัน นางยูจึงพานายคิมที่เป็นเพื่อนกันมานานมาเป็นผู้ค้ำประกันให้ จากนั้นจึงได้ทำสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันลงลายมือชื่อเรียบร้อยทั้งสองสัญญา ต่อมาก็มีการคืนเงินที่กู้ยืมเงินกันมาเรื่อยๆ จนนางยูประสบปัญหาการเงิน ทำให้ไม่สามารถคืนเงินให้นางจินได้ นางจินก็ยอมผ่อนผันให้ในเดือนแรกๆ แต่พอผ่านไป 3 เดือนนางยูก็ยังหาเงินมาชำระไม่ได้ นางจินเรียกให้จ่ายก็บอกว่าไม่มีตลอด นางจินจึงตัดสินใจติดต่อทนายความให้ส่งหนังสือทวงถามให้นางยูชำระหนี้ หากไม่ชำระภายในกำหนดก็จะดำเนินการฟ้องคดี ซึ่งพอถึงกำหนดนางยูไม่ชำระ นางจินจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาล โดยยื่นฟ้องทั้งนางยูและนายคิมที่เป็นผู้ค้ำประกันโดยหวังจะบังคับเอากับทั้ง 2 คน

              นางยูยื่นคำให้การรับสารภาพตามคำฟ้องของนางจิน ส่วนนายคิมที่เป็นผู้ค้ำประกันยื่นคำให้การต่อสู้เข้ามาว่านางจินไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ได้ส่งหนังสือแจ้งการที่นางยูผิดนัดชำระหนี้ให้แก่ตนก่อนฟ้อง นางจินจึงไม่มีอำนาจที่จะมาฟ้องตนได้
              คดีนี้บอกเลยครับว่าเป็นเรื่องหลักกฎหมายล้วนๆ ถ้าใครไม่แม่นกฎหมาย ระวังจะตกม้าตายเหมือนนางจินนะครับ หลักกฎหมายในคดีนี้คืออะไร เราไปดูที่ศาลตัดสินกันเลยครับ แต่เราจะดูเฉพาะที่มีปัญหานั่นก็คือนายคิมที่เป็นผู้ค้ำประกันเท่านั้นนะครับ

              ศาลมองว่า หลังจากที่นางยูผิดนัด นางจินมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามส่งไปถึงแค่นางยูเท่านั้น ไม่มีปรากฏเลยว่า นางจินส่งหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปหานายคิมที่เป็นผู้ค้ำประกัน ตามหลักในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 686 วรรค 1 ที่วางหลักว่า เมื่อลูกหนี้ผิดนัด ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด และไม่ว่ายังไงเจ้าหนี้จะเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนที่หนังสือบอกกล่าวจะไปถึงผู้ค้ำประกันไม่ได้ หรือก็คือต้องมีหนังสือไปก่อนถึงจะเรียกให้ชำระได้ ไม่มีหนังสือไปก็เรียกให้ชำระไม่ได้นั่นเองครับ หลักในมาตรา 686 นี้จึงเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกัน

            ดังนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด นางจินย่อมจะเรียกให้นายคิมที่เป็นผู้ค้ำประกันชำระหนี้ก่อนมีหนังสือบอกกล่าวไปถึงนายคิมไม่ได้ นางจินจึงยังไม่มีอำนาจฟ้องนายคิม ผู้ค้ำประกันตามบทกฎหมายดังกล่าวครับ
             เป็นยังไงกันบ้างครับ เรื่องอาจจะดูง่ายๆ เป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็ทำให้เกิดปัญหาได้ ต้องเสียเวลาไปอีกนะครับ แต่ยังไงก็ตามเคสนี้แม้นางจินจะไม่มีอำนาจฟ้อง แต่นางจินก็ยังมีสิทธิเรียกให้นายคิมรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันตามสัญญาได้อยู่ครับ ซึ่งหากมีการฟ้องใหม่ นางจินก็ต้องส่งหนังสือทวงถามถึงนายคิมใช่ไหมครับ หากส่งใหม่แล้วก็จะมีอำนาจฟ้องนายคิมได้

            ผมขอเสริมเล็กน้อย กฎหมายก็มีการกำหนดมาตรการป้องกันสำหรับเจ้าหนี้ที่จ้องจะเอาดอกเบี้ยเยอะๆ จากผู้ค้ำประกันครับ ที่โดยปกติยิ่งปล่อยเวลาไปดอกเบี้ยก็เดินเรื่อยๆ ใช่ไหมครับ แต่สำหรับกฎหมายค้ำประกันนั้นมีการกำหนดไว้ว่า หากเจ้าหนี้ส่งหนังสือแจ้งการผิดนัดและเรียกให้ชำระหนี้ไปยังผู้ค้ำประกันภายหลังจากเวลาผ่านไป 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัด ผู้ค้ำประกันก็จะรับผิดในดอกเบี้ยเพียง 60 วันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดเท่านั้นครับ เป็นการป้องกันไม่ให้ดอกเบี้ยที่ผู้ค้ำประกันจะต้องจ่ายมันบานปลายออกไปเพราะการมาเป็นผู้ค้ำประกันในหนี้ ผู้นั้นเขาก็ต้องรับภาระมากอยู่แล้ว ถ้าไม่เขียนป้องกันไว้เลย แบบนี้ผู้ค้ำประกันก็มีแต่เสียกับเสียครับ
            อ้างอิง : ฎ.3784/2562

รวมสาระที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับ #ทนายเล่าเรื่อง มาให้ชมกัน

ติดต่อ ปรึกษาทนาย หรือ จ้างทนาย คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด