บอกเลิกสัญญาแล้ว เรียกเบี้ยปรับได้หรือไม่

#ทนายเล่าเรื่อง

 

เมื่อหักเงินค่าปรับตามสัญญาก่อนโอนเงินค่างวดงานแล้ว

        ต่อมาภายหลัง ผู้รับเหมาทิ้งงาน

        จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาในเหตุผู้รับเหมาทิ้งงาน

        แล้วสามารถใช้สิทธิเรียกเบี้ยปรับได้อีกหรือไม่

บอกเลิกสัญญาแล้ว เรียกเบี้ยปรับได้หรือไม่

            #ทนายเล่าเรื่องวันนี้ ผมของหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับการคิดเบี้ยปรับตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ว่าในข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลฎีกาท่านจะวินิจฉัยไว้ว่าอย่างไร ลองมาดูพร้อมกันได้เลยครับ

            เรื่องมีอยู่ว่า…นายแดงได้ฟ้องให้เอและบีร่วมกันชำระค่าปรับและค่าเสียหายฐานผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างหอพักนักศึกษาแพทย์เป็นเงินจำนวน 6,224,000 บาท ให้ซีร่วมรับผิดใช้เงินตามสัญญาค้ำประกันจำนวน 397,500 บาท พร้อมดอกเบี้ย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เอและบีร่วมกันใช้เงินจำนวน 4,154,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา 7.5 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายแดง โดยให้ซีร่วมรับผิดใช้เงินจำนวน 397,500 บาท แก่นายแดง

           นายแดงอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ซีใช้ดอกเบี้ยอัตรา 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 397,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายแดงนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
           นายแดงฎีกา ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2519 เอและบีได้ตกลงรับเหมาก่อสร้างกับนายแดง โดยแบ่งงานและการจ่ายค่าจ้าง 10 งวด ภายในวันที่ 24 ธันวาคม 2520 ต่อมามีการต่ออายุสัญญาถึงวันที่ 17 สิงหาคม 2521 โดยมีซีค้ำประกันเอต่อนายแดงเป็นเงิน 397,500 บาท เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้ว เอทำงานเสร็จเพียง 8 งวด ในงวดที่ 9 ได้ส่งมอบงานงวดดังกล่าวเลยกำหนดไป 97 วัน นายแดงจ่ายเงินค่าจ้างงวดที่ 9 ให้เอไม่เต็ม โดยหักค่าปรับที่ส่งมอบงานล่าช้าวันละ 2,000 บาท ตามสัญญารวมเป็นเงิน 194,000 บาทไว้ ส่วนงานงวดที่ 10 เป็นจำนวนเงิน 1,200,000 บาท นั้นเอละทิ้งงานเป็นการผิดสัญญา นายแดงจึงบอกเลิกสัญญากับเอ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2524 และได้ทำสัญญาจ้างเหมารายใหม่ เข้าทำการก่อสร้างต่อจากงานที่เอทำค้างไว้เป็นเงิน 4,600,000 บาท การที่เอละทิ้งงานทำให้นายแดงต้องจ่ายค่าจ้างในการก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีก 3,400,000 บาท

            เมื่อนายแดงบอกเลิกสัญญากับเอ มีผลให้สัญญาระงับลงแล้ว นายแดงและเอจำต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โดยนายแดงก็หามีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าปรับนั้นอีกต่อไปไม่ คงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากเอดังที่ระบุไว้ในป.พ.พ มาตรา 391 วรรคสี่เท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้นายแดงได้รับค่าปรับจากเอจนถึงวันที่นายแดงบอกเลิกสัญญา คือวันที่ 23 มีนาคม 2524 จึงชอบแล้ว

             ที่นายแดงฎีกาในเรื่องเบี้ยปรับ เมื่อเอผิดนัดส่งมอบงานงวดที่ 9 ล่าช้าไป 97 วัน นายแดงได้ใช้สิทธิตามสัญญาหักเงินค่าปรับวันละ 2,000 บาท เป็นเงิน 194,000 บาท ออกจากค่าจ้างงานงวดที่ 9 แล้วจ่ายเงินคงเหลือให้เอรับไปแล้วโดยไม่ปรากฏว่าเอได้โต้แย้งไว้ ถือได้ว่าเอได้ชำระค่าปรับในการส่งมอบงานงวดที่ 9 ล่าช้า ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2521 ถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน ให้แก่นายแดงจำนวน194,000 บาทไปแล้วสิทธิเรียกร้องที่ขอลดก็เป็นอันขาดไปตามป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคแรก เอจึงต้องชำระค่าปรับให้แก่นายแดงวันละ 1,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2521 อันเป็นวันต่อจากวันที่นายแดงหักค่าปรับจากค่าจ้างงานงวดที่ 9 ของเอไว้แล้ว ไปจนถึงวันที่นายแดงบอกเลิกสัญญาคือวันที่ 23 มีนาคม 2524 รวม 851 วัน เป็นเงินค่าปรับ 851,000 บาทเมื่อรวมค่าเสียหายอีก 3,400,000 บาทแล้ว จึงเป็นเงินที่เอและบีจะต้องรับผิดต่อนายแดงทั้งสิ้น 4,251,000 บาท

             พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เอและบีร่วมกันใช้เงินจำนวน 4,251,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตรา 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายแดงนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

            จะเห็นได้ว่า เมื่อนายแดงบอกเลิกสัญญากับเอแล้ว ย่อมเป็นการระงับไประหว่างคู่สัญญาจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะดังเดิม ดังนั้น นายแดงจึงหามีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าปรับตามสัญญาจากเอต่อไป คงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังที่ระบุไว้ในป.พ.พ มาตรา 391 วรรคสี่ เท่านั้น เอส่งมอบงานงวดที่ 9 พ้นกำหนดเวลาตามสัญญาไป 97 วัน นายแดงจึงจ่ายเงินค่าจ้างงานงวดดังกล่าวให้เอไม่เต็ม โดยหักค่าปรับที่ส่งมอบงานล่าช้าตามสัญญาวันละ 2,000 บาทออกโดยจำเลยมิได้โต้แย้งไว้ ถือได้ว่าเอได้ชำระค่าปรับในการส่งมอบงานงวดที่ 9 ล่าช้าให้แก่นายแดงไปแล้ว สิทธิเรียกร้องขอลดค่าปรับก็เป็นอันขาดไปตามป.พ.พ มาตรา383 วรรคแรกนั่นเอง
             (อ้างอิง : ฎ.166/2532)

รวมสาระที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับ #ทนายเล่าเรื่อง มาให้ชมกัน

ติดต่อ ปรึกษาทนาย หรือ จ้างทนาย คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด