เพิกถอนการให้ได้หรือไม่?

#ทนายเล่าเรื่อง
ถ้าให้โดยเสน่หา แล้วต่อมาผู้ให้จะเพิกถอนการให้
ในกรณีดังกล่าวสามารถเพิกถอนการให้ได้หรือไม่

เพิกถอนการให้ได้หรือไม่?

          #ทนายเล่าเรื่อง ในวันนี้ผมขอหยิบยกกรณีการให้โดยเสน่หา แล้วต่อมาผู้ให้จะเพิกถอนการให้จากสองกรณีดังตามข้อเท็จต่อไปนี้ว่าสามารถเพิกถอนการให้ได้หรือไม่ และศาลฎีกาท่านจะวินิจฉัยไว้แบบไหน มาดูกันได้ครับ

            เรี่องมีอยู่ว่า…นายแดงฟ้องขอให้บังคับนางดำและนายขาวจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงพิพาทเป็นชื่อนายแดง หากทั้งสองคนไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของทั้งสองคน หากไม่สามารถโอนที่ดินแปลงพิพาทได้ ให้ทั้งสองคนร่วมกันใช้ราคาที่ดิน 250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายแดง นางดำและนายขาวให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ นายแดงอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

            นายแดงฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นายแดงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้นางดำโดยเสน่หา ต่อมานางดำจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่นายขาว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของนายแดงว่า นางดำประพฤติเนรคุณ เป็นเหตุให้นายแดงมีสิทธิถอนคืนการให้หรือไม่ ตามปพพ.มาตรา 531 บัญญัติว่า “อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุที่ผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น ท่านว่าอาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้
(1) ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายลักษณะอาญา หรือ
(2) ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือ
(3) ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้”

          กรณีตามคำฟ้องนายแดงอ้างเหตุประการแรกว่า นางดำหมิ่นประมาทนายแดงด้วยถ้อยคำว่า “นายแดงยกที่ดินให้แล้ว ยังจะเอาคืน เสือกโง่เอง อย่าหวังว่าจะได้สมบัติคืนเลย” เห็นว่าข้อความเพียงเท่านี้ เป็นเพียงการกล่าวถ้อยคำไม่สุภาพเท่านั้น ไม่ถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาทนายแดงหรือทำให้นายแดงเสียชื่อเสียงแต่อย่างใด ดังนั้นแม้หากจะฟังได้ว่า นางแดงกล่าวถ้อยคำตามคำฟ้องจริงก็ไม่เป็นเหตุให้นายแดงมีสิทธิเพิกถอนการให้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามฎีกาของนายแดงว่า นางดำได้กล่าวข้อความตามคำฟ้องหรือไม่

          ประการที่สอง นายแดงบรรยายฟ้องความว่า หลังจากนายแดงยกที่ดินให้นางดำแล้ว นางดำตัดโค่นไม้ยางพาราเสียและรับเงินราคาค่าไม้ยางทั้งหมดและจงใจทอดทิ้งนายแดงเสีย ไม่ยอมส่งอาหารหรือปัจจัยสี่แก่นายแดงเลย นายแดงพักอาศัยอยู่คนเดียว นางดำจงใจประพฤติเนรคุณนายแดงตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม 2542 ทำให้นายแดงได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส อาจได้รับอันตรายแก่ชีวิต ทั้งนี้นางดำสามารถดูแลปรนนิบัตินายแดงได้ แต่นางดำละเลยทอดทิ้งเสียทั้งที่สามารถทำได้ แต่นายแดงไม่ได้นำสืบว่านายแดงเคยขอและนางดำบอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่นายแดงแต่อย่างใด กรณีจึงไม่เข้าเหตุที่นายแดงมีสิทธิถอนคืนการให้ตามปพพ. มาตรา 531 (3) อีกเช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของนายแดงฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

        จะเห็นได้ว่า ถ้อยคำที่นายแดงยกมา มิใช่การการหมิ่นประมาทนายแดงหรือทำให้นายแดงเสียชื่อเสียงแต่อย่างใด ที่จะให้นายแดงยกเป็นเหตุเพิกถอนการให้ได้ และการที่นายแดงอ้างนางดำประพฤติเนรคุณไม่ยอมส่งอาหารและปัจจัยสี่แก่นายแดงเลย แต่นายแดงไม่ได้นำสืบว่าได้มีการร้องขอและนางดำบอกปัดอย่างไร จึงไม่สามารถนำเหตุดังกล่าวมาเพิกถอนการให้ได้เช่นกัน
          (อ้างอิง : ฎ.576/2550)

รวมสาระที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับ #ทนายเล่าเรื่อง มาให้ชมกัน

ติดต่อ ปรึกษาทนาย หรือ จ้างทนาย คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด