เจ้าหนี้สามารถฟ้องเพิกถอนนิติกรรมฉ้อฉลการให้ได้หรือไม่

#ทนายเล่าเรื่อง

ลูกหนี้สามารถโอนที่พิพาทให้ในระหว่างเป็นหนี้ได้หรือไม่

แล้วเจ้าหนี้สามารถฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการให้ได้หรือไม่

เจ้าหนี้สามารถฟ้องเพิกถอนนิติกรรมฉ้อฉลการให้ได้หรือไม่

            #ทนายเล่าเรื่อง ในวันนี้ผมขอหยิบยกประเด็นการเพิกถอนนิติกรรม ว่าในระหว่างนั้นที่มีการโอนที่ให้โดยเสน่หา เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซึ่งเป็นการฉ้อฉลนั้นได้หรือไม่ ศาลฎีกาท่านมีคำวินิจฉัยในประเด็นนี้อย่างไร ลองมาศึกษาพร้อมกันได้ครับ

            เรื่องมีอยู่ว่า…นางไก่ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนสิทธิในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ระหว่างนางไข่ และนายนก ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฯ และศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น นางไข่และนายนกฎีกา

            ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นางไก่มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่นางไข่โอนที่ดินพิพาทให้แก่นายนกโดยเสน่หาหรือไม่ โดยนางไข่และนายนกฎีกาว่า ในวันที่นางไข่โอนที่ดินพิพาทให้แก่นายนก เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2543 นั้น นางไก่ยังไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ของนางไข่เลย เพียงแต่ยื่นฟ้องนางไข่กับพวกเป็นคดีแพ่งต่อศาลชั้นต้นแล้วถอนฟ้องนางไข่ไปก่อนเท่านั้น ส่วนคดีแพ่งซึ่งนางไก่ฟ้องเฉพาะนางไข่ต่อศาลแขวงนครศรีธรรมราชในภายหลังก็ยังไม่ได้ยื่นฟ้อง นางไก่จึงไม่ใช่เจ้าหนี้ตามป.พ.พ. มาตรา 237 ซึ่งจะร้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้ระหว่างนางไข่และนายนกได้ เห็นว่า การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะสงวนไว้ซึ่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้เพราะทรัพย์สินของลูกหนี้ย่อมเป็นหลักประกันในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามป.พ.พ. มาตรา 214 ดังนั้นเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลจึงหมายถึงเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้และต้องเสียเปรียบจากการที่ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลงไม่พอชำระหนี้อันเนื่องมาจากการทำนิติกรรมฉ้อฉลของลูกหนี้ ทั้งนี้ไม่ว่าเจ้าหนี้ดังกล่าวจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม แม้เจ้าหนี้ในหนี้ที่ยังไม่ได้มีการฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้ก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนได้ ข้อเท็จจริงคดีนี้จากสำเนาสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสิชล ที่เป็นหลักฐานว่า นางไก่ได้แจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่นางไข่ ในข้อหาฉ้อโกงประชาชนเมื่อปี 2542 และคำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 19/2543 หมายเลขแดงที่ 976/2543 ของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 4 มกราคม 2543 ที่นางไก่ฟ้องให้นางไข่กับพวกคืนเงินที่ฉ้อโกงไปนั้น ถือได้ว่านางไก่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ของนางไข่ในอันที่จะเรียกร้องให้นางไข่ลูกหนี้ชำระหนี้จากทรัพย์สินของตนแล้ว ตามสารบัญจดทะเบียนด้านหลังสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ นางไข่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่นายนก ในวันที่ 18 สิงหาคม 2543 ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากนางไก่แจ้งความดำเนินคดีอาญาและฟ้องเรียกเงินคืนจากนางไข่ ข้อเท็จจริงย่อมฟังได้ว่า นางไข่ทราบแล้วว่าตนตกเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่นางไก่ เมื่อนางไก่เบิกความถึงทรัพย์สินของนางไข่ว่า ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้นางไก่บังคับคดีได้อีก นางไข่และนายไก่ก็ไม่ถามค้านหรือนำสืบพยานหลักฐานในประเด็นนี้ให้ฟังได้เป็นอย่างอื่น กรณีจึงต้องฟังว่า นอกจากที่ดินพิพาทซึ่งนางไข่โอนให้นายนก แล้ว นางไข่ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่พอจะให้นางไก่บังคับชำระหนี้เอาได้อีก การที่นางไข่โอนที่ดินพิพาทให้แก่นายนก โดยเสน่หา นางไข่ย่อมรู้อยู่ว่าเป็นทางให้นางไก่เจ้าหนี้เสียเปรียบ นางไก่ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซึ่งเป็นการฉ้อฉลนั้นเสียได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างนางไข่และนายนกมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น

              จะเห็นได้ว่า การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เป็นการให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะสงวนไว้ซึ่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้ เพราะทรัพย์สินของลูกหนี้ย่อมเป็นหลักประกันในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 214 ดังนั้น เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลจึงหมายถึงเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้และต้องเสียเปรียบจากการที่ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลงไม่พอชำระหนี้อันเนื่องมาจากการทำนิติกรรมฉ้อฉลของลูกหนี้ ไม่ว่าเจ้าหนี้ดังกล่าวจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม แม้เจ้าหนี้ในหนี้ที่ยังไม่ได้มีการฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้ก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนได้ เมื่อนางไก่แจ้งความดำเนินคดีอาญาและฟ้องเรียกเงินคืนจากนางไข่ นางไข่ย่อมทราบว่าตกเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่นางไก่ การที่นางไข่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่นายนกโดยเสน่หา และไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้นางไก่บังคับคดีได้อีกนอกจากที่ดินพิพาท นางไข่ย่อมรู้อยู่ว่าเป็นทางให้นางไก่เจ้าหนี้เสียเปรียบ นางไก่ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซึ่งเป็นการฉ้อฉลนั้นเสียได้
             (อ้างอิง ฎ.3975/2553)

รวมสาระที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับ #ทนายเล่าเรื่อง มาให้ชมกัน

ติดต่อ ปรึกษาทนาย หรือ จ้างทนาย คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด