โกงเจ้าหนี้

#ทนายเล่าเรื่อง

ลูกหนี้โอนหุ้นของตัวเองให้กับคนอื่น 

ไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่มี ก็ผิดฐานโกงเจ้าหนี้!!

ลูกหนี้โอนหุ้นของตัวเองให้กับคนอื่น ไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่มี ก็ผิดฐานโกงเจ้าหนี้!!

            #ทนายเล่าเรื่อง ในวันนี้เรามากับคดีอาญากันบ้างครับ โดยคดีนี้เป็นคดีโกงเจ้าหนี้ที่หลายคนเข้าใจว่า การย้าย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้บุคคลอื่นจะต้องเป็นการโอนหนีไป แต่คดีนี้เป็นการซื้อขายหุ้น แล้วแบบนี้ก็ไม่ใช่การย้ายทรัพย์หนีหรือเปล่า? ไปดูกันเลยครับ

          คดีนี้ นายรัฐเป็นนักธุรกิจถือหุ้นอยู่ในบริษัทเอจำนวน 120,000 หุ้น แต่นายรัฐได้กู้ยืมเงินธนาคารมาเพื่อสร้างบ้านจำนวน 3 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าพอสร้างไป รายได้ของนายรัฐเกิดสะดุดทำให้ไม่สามารถจ่ายหนี้ธนาคารที่กู้ยืมมาได้ จึงถูกธนาคารฟ้องให้ชำระเงินที่กู้ยืม และศาลพิพากษาให้นายรัฐชำระเงินที่กู้ยืมแล้ว แต่ปรากฏว่าในระหว่างที่มีการดำเนินการบังคับคดี นายรัฐได้มีการขายหุ้นจำนวน 120,000 หุ้นของบริษัทเอให้กับเพื่อนที่ถือหุ้นอยู่ในบริษัทเอเช่นเดียวกัน ธนาคารจึงดำเนินการฟ้องนายรัฐในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

          นายรัฐเข้ามาต่อสู้คดีโดยให้การว่าตนไม่ได้มีเจตนาไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ แต่เพื่อนมาติดต่อซื้อจริงๆ จึงขายให้ และอ้างว่ามีการจ่ายเงินค่าหุ้นนั้นด้วย เมื่อข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ ศาลจะติดสินว่ายังไง แล้วนายรัฐจะผิดฐานโกงเจ้าหนี้หรือไม่ เราไปดูกันเลยครับ

          ศาลมองว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 บัญญัติถึงการกระทำอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ว่าจะต้องมีการย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบความผิดดังกล่าวไม่ได้จำกัดว่าการโอนนั้นต้องทำในลักษณะใด จะมีค่าตอบแทนหรือไม่

          จากหลักฐานในคดีที่เป็นสัญญาซื้อขายหุ้นที่ธนาคารนำสืบทำให้เชื่อได้ว่า นายรัฐได้โอนขายหุ้นของตนจำนวน 120,000 หุ้นไปให้แก่เพื่อนจริง จึงถือได้ว่า เป็นการกระทำโดยมีเจตนาไม่ให้ธนาคารซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของนายรัฐยึดหุ้นที่เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของนายรัฐมาบังคับชำระหนี้ การกระทำของนายรัฐจึงเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

            เป็นยังไงกันบ้างครับ จะเห็นได้ว่า การโอนย้ายทรัพย์สินที่จะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายกันจริงหรือแกล้งโอนกันก็ตาม ถ้าผู้กระทำมีเจตนาไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ จะโอนหรือให้แบบไหนก็ผิดครับ
             อ้างอิง : ฎ 865/2559

รวมสาระที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับ #ทนายเล่าเรื่อง มาให้ชมกัน

ติดต่อ ปรึกษาทนาย หรือ จ้างทนาย คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด