โดนขโมยรถที่ห้างสรรพสินค้า เรียกให้ห้างฯ รับผิดได้หรือไม่

โดนขโมยรถที่ห้างสรรพสินค้า เรียกให้ห้างฯ รับผิดได้หรือไม่

โดนขโมยรถที่ห้างสรรพสินค้า เรียกให้ห้างฯ รับผิดได้หรือไม่

                         #ทนายเล่าเรื่อง วันนี้ เป็นเรื่องรถยนต์หายในห้างฯ ครับ ไม่ใช่ห้างหุ้นส่วนอะไรนะครับ แต่เป็นห้างสรรพสินค้าที่เราชอบไปเดินเล่น กินอาหาร หรือช็อปปิ้งกันอยู่บ่อยๆ นี่แหละ โดยจะเป็นคดีไปสู่ศาลว่า กรณีรถยนต์ที่เราขับเข้าไปจอดที่ลานจอดรถของห้างฯ เนี่ย ถ้าเกิดมันถูกขโมยขึ้นมา ใครจะรับผิดชอบล่ะ ต้องเป็นห้างฯ รึเปล่าเพราะห้างจัดเตรียมที่จอดรถไว้ มีการรับบัตรจอดรถ แถมยังมีพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำอยู่ด้วย คำตอบของคำถามนี้จะเป็นยังไง เราไปติดตามกันเลยครับ

                            คดีนี้ นายเบนซ์ไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งผมขอเรียกสั้นๆ ว่า ห้างฯ นะครับ โดนนายเบนซ์ก็ขับรถไปตามปกติ พอถึงห้างก็ขับเข้าลานจอดรถ รับบัตร และจอดรถ จากนั้นนายเบนซ์ก็เข้าไปซื้อของในห้างฯ พอออกมารถก็หายไปแล้ว นายเบนซ์เลยยื่นฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน โดยฟ้องบริษัท A เป็นจำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นบริษัทรักษาความปลอดภัยที่ห้างฯ จ้างมาเพื่อดูแลความปลอดภัยของลานจอดรถ และฟ้องห้างฯ เป็นจำเลยที่ 2 ครับ โดยนายเบนซ์อ้างว่า ลูกจ้างที่เป็น รปภ. ของบริษัท A ประมาททำให้รถของตนถูกขโมยไป ซึ่งฟ้องมา 2 ฐานครับ คือ ละเมิด และสัญญาฝากทรัพย์ (นายเบนซ์มองว่าการนำรถเข้าไปจอดในที่จอดรถห้างฯ มีลักษณะเป็นสัญญาฝากทรัพย์)

                            บริษัท A และห้างฯ ต่างให้การว่า ลูกค้านำรถเข้ามาจอดโดยสามารถหาที่จอดได้เอง โดยที่ไม่ได้เก็บค่าจอดรถ และไม่ได้รับสิ่งใดจากนายเบนซ์มาเก็บรักษา ลูกค้าที่นำรถเข้ามาจอดต้องรับผิดชอบไม่ให้รถหายด้วยตัวเอง อีกทั้งนายเบนซ์ยังเก็บกุญแจรถไว้กับตัวตลอดด้วย บริษัท A จึงไม่ได้ประมาท และห้างฯ ก็ไม่ต้องรับผิดด้วย ศาลจะวินิจฉัยยังไง ไปดูกันครับ

                           ศาลเห็นว่า การที่ห้างฯ จัดที่จอดรถไว้ให้กับลูกค้านั้น เวลาลูกค้านำรถเข้าไปจอด ลูกค้าจะต้องหาที่จอดด้วยตัวเองและเก็บกุญแจรถไว้กับตนเอง พนักงานของบริษัท A ทำหน้าที่มอบบัตรจอดรถให้ตอนขาเข้าและดูแลหาที่จอดรถให้และะรับบัตรจอดรถคืนตอนขาออก เป็นการช่วยรักษาความปลอดภัยให้ลูกค้าที่นำรถเข้าไปจอดโดยที่ไม่เก็บเงินค่าจอดรถ การที่ลูกค้านำรถเข้าไปจอดในลักษณะแบบนี้จึงไม่ใช่การส่งมอบการครอบครองทรัพย์หรือรถยนต์ให้แก่บริษัท A และห้างฯ ที่จะทำให้กลายเป็นสัญญาฝากทรัพย์ กรณีจึงไม่ใช้สัญญาฝากทรัพย์ที่นายเบนซ์จะมาเรียกค่าเสียหายโดยอาศัยฐานจากสัญญาฝากทรัพย์ได้

                           ส่วนที่เรียกค่าเสียหายที่นายเบนซ์อ้างว่า พนักงานของบริษัท A ประมาทนั้น ในทางการนำสืบได้ความว่า ทางปฏิบัติจะมีพนักงานของบริษัท A แจกบัตรจอดรถให้กับลูกค้าเมื่อลูกค้านำรถเข้ามาจอดและเก็บบัตรจอดรถคืนลูกค้านำรถออก ดังนั้นการที่รถของนายเบนซ์หายไปอาจเกิดเพราะพนักงานของบริษัท A ปล่อยรถออกไปโดยไม่ได้ตรวจและเก็บบัตรจอดรถคืน หรือเจ้าของรถประมาทลืมบัตรจอดไว้ในรถแล้วคนร้ายใช้บัตรนั้นเพื่อขับรถผ่านออกไป หรือนายเบนซ์อาจจะรู้เห็นกับคนร้ายให้แกล้งมาขโมยรถออกไปก็ได้ 

                           หลักฐานสำคัญในคดีนี้คือ บัตรจอดรถ ถ้าจะฟังได้ว่าพนักงานของบริษัท A ประมาทจริง นายเบนซ์ต้องนำบัตรจอดรถมาแสดงว่าบัตรยังอยู่กับตน แต่พนักงานบริษัท A ประมาทปล่อยรถออกไปโดยไม่ได้ตรวจและเก็บบัตรคืน ซึ่งนายเบนซ์ไม่มีบัตรมาแสดง อ้างแค่ว่าวันนั้น พนักงานบริษัท A ไม่ได้ให้บัตรจอดรถมาเพราะหมด น้ำหนักไม่มาพอที่จะฟังได้ว่า พนักงานของบริษัท A และห้างฯ ประมาท ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์

                            ก็จบกันไปแล้วนะครับ วันนี้ข้อกฎหมายที่น่าสนใจและรู้ไว้ใช่ว่า ก็คือ เรื่องสัญญาฝากทรัพย์ครับ ในการฝากทรัพย์ ผู้ฝากจะต้องส่งมอบการครอบครองทรัพย์ที่จะฝากให้แก่ผู้รับฝากด้วย จึงจะเป็นการฝากทรัพย์ ถ้าเทียบกับการนำรถเข้าไปจอดแล้ว การส่งมอบการครอบครองก็คือ การส่งมอบกุญแจรถนั่นเอง ถ้าส่งมอบกุญแจรถไว้ แบบนี้ก็จะถือเป็นสัญญาฝากทรัพย์ได้เพราะรถอยู่ในความครอบครองของผู้รับฝากแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เราก็จะเห็นได้จากบางโรงแรมที่จะมีพนักงานรับรถนำรถไปจอดให้เราและเก็บกุญแจรถไว้ แบบนี้ก็จะเป็นการฝากทรัพย์นั่นเองครับ

                             อ้างอิง : ฎ.1936/2549               

รวมสาระที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับ #ทนายเล่าเรื่อง มาให้ชมกัน

ติดต่อ ปรึกษาทนาย หรือ จ้างทนาย คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด