ทรัพย์อิงสิทธิ กับ สิทธิการเช่า ต่างกันอย่างไร

ทรัพย์อิงสิทธิ VS สิทธิการเช่า
ต่างกันอย่างไร?

ทรัพย์อิงสิทธิ กับ สิทธิการเช่า ต่างกันอย่างไร

          หลายคนอาจจะพึ่งเคยได้ยินคำว่า “ทรัพย์อิงสิทธิ” จากภาพข่าวในช่วงที่ผ่านมาใช่ไหมครับที่รัฐบาลได้มีการให้กระทรวงมหาดไทยศึกษาเรื่องการแก้กฎหมายทรัพย์อิงสิทธิ โดยขยายระยะเวลาให้เช่าที่ดินจากไม่เกิน 30 ปี เป็น 99 ปี และยังต้องการเพิ่มสิทธิการถือครองคอนโดจาก 49% เป็น 75% ต่อโครงการด้วย วันนี้ผมเลยจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับทรัพย์อิงสิทธิกันครับ

ทรัพย์อิงสิทธิ คืออะไร?

            ทรัพย์อิงสิทธิ คือ ทรัพย์ที่เจ้าของให้บุคคลหนึ่ง (ผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิ) มีสิทธิที่จะใช้และรับประโยชน์จากทรัพย์สินของตนเองภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่ต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น ผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพย์นั้นได้ตามขอบเขตที่กำหนดในสัญญาหรือกฎหมาย และที่สำคัญครับไม่ว่าจะเปลี่ยนเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ไปกี่คน สิทธิก็ยังคงติดอยู่กับตัวอสังหาริมทรัพย์นั้นจนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลา หรือถูกบอกเลิกทรัพย์อิงสิทธินั่นเอง

ทรัพย์อิงสิทธิ ต้องจดทะเบียน

           ทรัพย์อิงสิทธิไม่ใช่ว่าแค่ทำสัญญาก็ได้นะครับ แต่จะต้องมีการยื่นคำขอจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยทรัพย์ที่จะจดทะเบียนทรัพย์อิงสิทธิได้จะต้องเป็นที่ดินที่มีโฉนดไม่ว่าจะมีสิ่งปลูกสร้างหรือไม่และคอนโดครับ โดยขณะจดทะเบียนจะต้องแสดงโฉนดที่ดินหรือหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดแล้วแต่กรณี โดยกำหนดระยะเวลาให้เช่าทรัพย์อิงสิทธิได้ไม่เกิน 30 ปี ซึ่งจุดนี้แหละครับที่รัฐบาลต้องการขยายจาก 30 ปีเป็น 99 ปีนั่นเอง
           ในการจดทะเบียนนั้น หากทำตามขั้นตอนเรียบร้อย ทางที่ดินจะออกหนังสือรับรองทรัพย์อิงสิทธิ ให้กับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ 1 ฉบับ และเก็บไว้ที่สำนักงานที่ดินอีก 1 ฉบับครับ

ทรัพย์อิงสิทธิ VS สิทธิการเช่า

           “ทรัพย์อิงสิทธิ” เข้ามาแก้เรื่องข้อจำกัดของสิทธิการเช่า โดยถ้าผู้เช่าเสียชีวิตสัญญาจะถูกระงับ ไม่ตกทอดแก่ทายาท และสิทธิการเช่าก็ไม่สามารถใช้เป็นหลักประกันในการชำระหนี้ได้ ซึ่งทำให้เจ้าของและผู้เช่าไม่สามารถใช้ประโยชน์ในทรัพย์นั้นได้อย่างเต็มที่
ซึ่งผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิจะเหมือนกับได้ทรัพย์นั้นมาเป็นเจ้าของ และมีข้อแตกต่างจากสิทธิการเช่าดังนี้ครับ
1. ผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิ สามารถต่อเติม ดัดแปลง หรือก่อสร้างโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของที่แท้จริง แต่สิ่งที่สร้างหรือต่อเติมจะตกเป็นของเจ้าของทรัพย์สินครับ โดยคนที่มีเพียงสิทธิการเช่าจะต้องขออนุญาตก่อนต่อเติม
2. ผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิสามารถนำทรัพย์อิงสิทธิไปให้เช่า ขาย หรือโอนให้ผู้อื่นได้
3. ผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิสามารถนำทรัพย์อิงสิทธิไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ได้ ซึ่งแน่นอนว่าสิทธิการเช่าทำไม่ได้ครับเพราะจะจำนองได้โดยหลักจะต้องเป็นของทรัพย์ครับ
4. ถ้าผู้ทรงทรัพย์อิงสิทธิเสียชีวิตไป สิทธิในทรัพย์อิงสิทธินั้นก็ไม่ระงับไปครับ สามารถใช้ได้จนกว่าจะหมดระยะเวลาเลย รวมทั้งเป็นสิทธิที่ตกทอดแก่ทายาทได้ด้วยครับ

Info - ทรัพย์อิงสิทธิ กับ สิทธิการเช่า ต่างกันอย่างไร

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีแพ่ง คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีแพ่งหรือ จ้างทนายคดีแพ่ง คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด