ที่ดิน ส.ป.ก. โอนให้ใครได้บ้าง

ที่ดิน ส.ป.ก. โอนให้ใครได้บ้าง

              ที่ดิน ส.ป.ก. หรือที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 คือเอกสารแสดงการครอบครองที่ดินที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกให้กับประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ตามพระราชบัญญัติการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 โดยมีหลักว่า ที่ดินในเขตปฏิรูปนั้นใช้ทำเกษตรกรรมได้อย่างเดียวเท่านั้น ทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ และผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 จะต้องมีฐานะยากจน หรือผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรม หรือผู้เป็นบุตรของเกษตรกร

ที่ดิน ส.ป.ก. เป็นที่ดินของรัฐ

               ที่ดิน ส.ป.ก. เป็นที่ดินของรัฐ ที่ให้ส.ป.ก. มีอำนาจจัดให้เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรตามมาตรา 30 จัดสรรที่ตามขนาดการถือครองในที่ดินดังกล่าว ในจำนวนที่ดินไม่เกิน 50 ไร่ สำหรับเกษตรกรและบุคคลในครอบครัวเดียวกัน , ในจำนวนที่ดินไม่เกิน 100 ไร่ สำหรับเกษตรกรและบุคคลในครอบครัวเดียวกัน ซึ่งใช้ประกอบเกษตรกรรมเลี้ยงสัตว์ใหญ่ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนด ,ในจำนวนที่ดินที่คณะกรรมการเห็นสมควรสำหรับสถาบันเกษตรกร ทั้งนี้ โดย คำนึงถึงประเภทและลักษณะการดำเนินงานของสถาบันเกษตรกรนั้น ๆ และถ้าเป็นที่ดินของรัฐซึ่งมีเกษตรกรถือครองอยู่แล้วเกินจำนวนที่กำหนด ก่อนเวลาที่คปก. กำหนด (พ.ศ. 2524) จัดให้ตามจำนวนที่เกษตรกรถือครองได้ แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100 ไร่

             ที่ดิน ส.ป.ก. จึงไม่สามารถออกโฉนดได้ ห้ามซื้อห้ามขาย ห้ามโอนขายสิทธิ์ให้คนอื่น ที่ไม่ใช่ทายาทของเจ้าของสิทธิ เพราะตามมาตรา 30 วรรคท้าย “การจัดที่ดินให้เช่าหรือเช่าซื้อตามมาตรานี้ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการเช่าซื้อ และสิทธิการเช่าซื้อดังกล่าวจะโอนแก่กันได้หรือตกทอดทางมรดกได้เฉพาะตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด”และหากทายาทได้รับเป็นมรดกตกทอดไปแล้วก็ต้องใช้ประโยชน์โดยการทำเกษตรกรรมเท่านั้นไม่สามารถจำนองได้ ยกเว้น เป็นโครงการของรัฐที่อนุญาตให้ใช้เอกสิทธิ์ ส.ป.ก เป็นประกันได้

ที่ดิน ส.ป.ก.โอนให้ใครได้บ้าง

              1.สามารถโอนสิทธิในขณะมีชีวิตอยู่ โดยมีเหตุผลที่จำเป็น เช่น ชราภาพ เจ็บป่วย อื่นๆ ให้แก่ทายาท ซึ่งทายาทที่รับโอนได้คือ คู่สมรส , บุตร ,บิดามารดาของผู้ทำเกษตรกรรม, พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันของ เกษตรกร, พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกันของเกษตรกร หรือหลานของเกษตรกร
             2.ตกทอดทางมรดกสิทธิให้ทายาท เมื่อเกษตรกรที่ได้รับที่ดิน ส.ป.ก. เสียชีวิตลง โดยทายาทตามข้อ 1.สามารถยื่นคำร้องขอรับมรดกสิทธิได้
ดังนั้นแล้ว ที่ดิน ส.ป.ก หรือ ส.ป.ก.4-01 ไม่สามารถซื้อ-ขาย-โอน ได้ (ยกเว้นเป็นการโอนสิทธิให้ทายาทและตกทอดทางมรดกสิทธิให้ทายาท) เป็นการครอบครองโดยได้สิทธิครอบครองทำประโยชน์ ซึ่งสิทธิอาจหมดลงเมื่อฝ่าฝืนกฎระเบียบ หรือขาดคุณสมบัติเกิน 1 ปี

Info - ที่ดิน ส.ป.ก. โอนให้ใครได้บ้าง

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีที่ดิน คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีที่ดินหรือ จ้างทนายคดีที่ดิน คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด