ใครที่ไม่สามารถเป็นพยานในพินัยกรรม

#รู้ก่อนทำพินัยกรรม

ใครบ้างเป็นพยานในพินัยกรรมไม่ได้ !?

ใครที่ไม่สามารถเป็นพยานในพินัยกรรม

                พินัยกรรมเป็นการทำนิติกรรมอย่างหนึ่งที่สั่งการเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ทำ แต่พินัยกรรมนี้จะมีผลเมื่อผู้ทำถึงแก่ความตาย ซึ่งตามความเข้าใจของคนทั่ว ๆ ไป พินัยกรรมก็คือเอกสารที่ผู้ตายยกทรัพย์สินของตนให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งถ้าทำพินัยกรรมแบบพิมพ์จะต้องมีพยานในพินัยกรรม หลายคนอาจจะตกม้าตายก็ตรงนี้แหละครับ เพราะพยานในพินัยกรรมเราก็ต้องทราบด้วยว่าตามกฎหมายใครเป็นพยานไม่ได้ เพราะขืนเอาคนที่กฎหมายห้ามมาเป็นพยาน พินัยกรรมก็อาจเสียไปเลยครับ วันนี้เรามาดูกันดีกว่าว่าพยานในพินัยกรรม ใครบ้างที่เป็นไม่ได้

พยานในพินัยกรรม คืออะไร

              พยานในพินัยกรรม คือ บุคคลที่เข้ามาเป็นพยานในการทำพินัยกรรม โดยเข้ามาเป็นพยานเพื่อรับรองว่าผู้ทำพินัยกรรมทำพินัยกรรมขึ้นจริง มีสติสัมปชัญญะครบถ้วนขณะที่ทำ ไม่ถูกกลฉ้อฉล ถูกหลอกลวง หรือถูกบังคับขู่เข็ญให้ทำซึ่งจะส่งผลให้พินัยกรรมเป็นโมฆะได้ พยานในพินัยกรรมจึงมีความสำคัญมากครับ

พยานในพินัยกรรม ไม่ใช่ใครก็เป็นได้

              ตามหัวข้อเลยครับ ไม่ใช่ว่าใครอยากจะเป็นก็ไปเป็นพยานในพินัยกรรมได้นะครับ เพราะกฎหมายมีการกำหนดในเรื่องพยานในพินัยกรรมเอาไว้ด้วยว่า ใครไม่สามารถเป็นพยานในพินัยกรรมได้ โดยผมจะขอแยกผู้ที่เป็นพยานไม่ได้ออกเป็น 2 ประเภทนะครับ 

  1. คุณสมบัติต้องห้ามตามกฎหมาย

          การจะเป็นพยานในพินัยกรรมได้จะต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนดด้วย โดยกฎหมายกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1670 

          ก. ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือยังอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์

          ข. บุคคลวิกลจริตหรือบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ

          ค. บุคคลที่หูหนวก เป็นใบ้ หรือตาบอดทั้งสองข้าง

  1. บุคคลที่กฎหมายกำหนดไม่ให้เป็นพยานโดยเฉพาะ

          กฎหมายกำหนดให้ผู้เขียนหรือพยานในพินัยกรรมจะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้นไม่ได้ ซึ่งแปลกลับกันก็คือ ผู้รับพินัยกรรมจะเป็นผู้เขียนหรือพยานในพินัยกรรมไม่ได้นั่นเองครับ 

เพราะอาจจะกลายเป็นว่าพยานหรือผู้เขียนบังคับให้ผู้ทำพินัยกรรมทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้ตนเองก็ได้ 

          ดังนั้น สรุปตรงนี้เลยว่าบุคคลที่กฎหมายกำหนดไม่ให้เป็นพยานในพินัยกรรมจะมีทั้งหมด 4 คนครับ

  1. ผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
  2. บุคคลวิกลจริงหรือบุคคลเสมือนไร้ความสามารถตามคำสั่งศาล
  3. ผู้ที่หูหนวก เป็นใบ้ หรือตาบอดทั้งสองข้าง
  4. ผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรม

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีมรดก คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีมรดกหรือ จ้างทนายคดีมรดก คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด