พินัยกรรม ทำหลายฉบับได้หรือไม่ ผลเป็นอย่างไร

#คลายสงสัย
“พินัยกรรม” ทำหลายฉบับได้หรือไม่

ผลจะเป็นอย่างไร

พินัยกรรม ทำหลายฉบับได้หรือไม่ ผลเป็นอย่างไร

             พินัยกรรมเป็นเอกสารสำคัญที่เจ้ามรดกทำขึ้นเพื่อแสดงเจตนาก่อนตายว่าจะให้ทรัพย์สินของตนกับใคร เมื่อเป็นเอกสารสำคัญก็ควรจะมีแค่แผ่นเดียวใช่หรือไม่ จะทำไว้หลาย ๆ ฉบับได้หรือเปล่าเพราะบางทีอาจจะลืมว่ามีทรัพย์ที่ไม่ได้ใส่ไว้ในพินัยกรรม ผมเชื่อว่าหลายคนก็สงสัยใช่ไหมครับ งั้นเราไปดูกันเลยดีกว่าว่า เราจะทำพินัยกรรมหลายฉบับได้หรือไม่

พินัยกรรม คืออะไร

            ก่อนอื่นเลย ผมะสรุปแบบสั้น ๆ ว่า พินัยกรรมก็คือ การแสดงเจตนาเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือเรื่องต่าง ๆ เผื่อตาย ซึ่งจะมีผลเมื่อผู้ทำถึงแก่ความตาย โดยในวันนี้เราจะเน้นไปที่พินัยกรรมแบบพิมพ์หรือแบบเขียนเองเพราะสามารถทำได้ด้วยตนเองที่บ้านนะครับ

พินัยกรรมหลายฉบับทำได้หรือไม่

             หากเราเขียนพินัยกรรมขึ้นมาสักฉบับว่าจะยกทรัพย์สินของเราให้กับใคร พอเวลาผ่านไปถ้าเรานึกขึ้นได้ว่าเรายังมีทรัพย์สินอื่นอยู่อีกที่อยากยกให้ใครสักคน หรือบางทีอาจจะอยากเปลี่ยนใจไม่อยากยกให้คนนี้แล้ว แต่อยากเปลี่ยนไปยกให้อีกคนแทน ไม่ว่าจะเปลี่ยนใจกรณีแบบไหน คำถามคือเราสามารถทำหรือเขียนพินัยกรรมฉบับใหม่ขึ้นมาเลยได้หรือเปล่า

             ถ้าเราดูกันที่กฎหมายมรดกในส่วนที่เกี่ยวกับพินัยกรรมแล้ว ไม่มีกฎหมายกำหนดว่าห้ามทำหลายฉบับหรือให้ทำพินัยกรรมได้แค่ฉบับเดียว ประกอบกับมาตรา 1697 มีการวางหลักเอาไว้ว่า ถ้าผู้ทำพินัยกรรมไม่ได้แสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น และปรากฏว่าพินัยกรรมฉบับก่อนกับฉบับหลังขัดกัน ให้ถือว่าพินัยกรรมฉบับก่อนถูกเพิกถอนไปเฉพาะส่วนที่ขัดกับฉบับหลัง

             เมื่อไม่มีกฎหมายห้าม และยังมีกฎหมายกำหนดในเรื่องการเพิกถอนฉบับก่อนฉบับหลังเอาไว้ ดังนั้น คำตอบแรกเลยคือ พินัยกรรม สามารถทำไว้หลายฉบับได้นั่นเอง แต่ผลของการทำไว้หลายฉบับจะเป็นยังไง เราไปดูในส่วนต่อไปกันครับ

ผลของการทำพินัยกรรมไว้หลายฉบับ

            เมื่อสามารถทำพินัยกรรมหลายฉบับได้ ปัญหาก็จะไม่เกิดเลยครับถ้าพินัยกรรมหลายฉบับนั้นเขียนไว้เหมือนกัน อาจจะงงใช่ไหมครับทั้งที่เขียนเหมือนกัน จะทำไว้หลายฉบับทำไม เพราะสำหรับบางคนที่มีทรัพย์สินและทายาทเยอะ การทำพินัยกรรมไว้ก็เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ให้ทายาททะเลาะแย่งมรดกกันเอง และการทำไว้หลายฉบับก็เพื่อเป็นการป้องกันทายาทบางคนที่อาจจะไปเจอพินัยกรรมแล้วเห็นว่าตัวเองไม่ได้มรดก เลยทำลายพินัยกรรมนั้นทิ้ง ก็เลยใช้วิธีทำไว้หลายฉบับและให้เก็บไว้แยกกัน โดยมักจะระบุในพินัยกรรมอย่างชัดเจนว่าทำขึ้นมากี่ฉบับและให้ใครเก็บไว้บ้าง

            ปัญหาก็จะอยู่ที่มีการทำพินัยกรรมหลายฉบับ แต่ว่าแต่ละฉบับเขียนไม่เหมือนกัน แบบนี้ผลจะเป็นอย่างไร ผมแยกไว้ให้เป็น 2 กรณี
           1.พินัยกรรมฉบับหลังมีข้อความให้เพิกถอนฉบับก่อน
           กรณีที่พินัยกรรมฉบับหลังมีข้อความให้เพิกถอนฉบับก่อน แบบนี้ง่ายเลยครับ เท่ากับฉบับก่อนก็จะถูกเพิกถอนเลยโดยที่ไม่ต้องมาตีความอะไรอีก แต่ก็ต้องดูว่าให้เพิกถอนแค่ไหน ทั้งหมดหรือบางส่วน ถ้าเพิกถอนทั้งหมด ฉบับก่อนก็จะเป็นแค่กระดาษธรรมดา แล้วใช้ฉบับหลังเป็นพินัยกรรมที่บังคับกันจริง แต่ถ้าเพิกถอนบางส่วน ก็จะใช้ฉบับก่อนในส่วนที่ไม่ถูกเพิกถอนประกบกับฉบับหลังนั่นเองครับ
          2.พินัยกรรมฉบับหลังไม่มีข้อความให้เพิกถอนฉบับก่อน
          ถ้าพินัยกรรมฉบับหลังไม่มีข้อความที่ให้เพิกถอนฉบับก่อน เราก็ต้องมาดูที่กฎหมายกันก่อนซึ่งตามมาตรา 1697 กำหนดว่า ถ้าพินัยกรรมฉบับหลังขัดกับฉบับก่อน ให้พินัยกรรมฉบับก่อนถูกเพิกถอนไปเฉพาะส่วนที่ขัดกับฉบับหลัง ที่กฎหมายกำหนดไว้แบบนี้ก็เนื่องจากมองว่าการทำพินัยกรรมเป็นการแสดงเจตนาอย่างหนึ่งซึ่งเป็นการยกทรัพย์สินของตัวเองให้คนอื่นซึ่งอาจเปลี่ยนใจได้และเป็นคำสั่งครั้งสุดท้ายก่อนตาย จึงต้องการให้คำสั่งหรือเจตนาสุดท้ายสำคัญที่สุด

            เพราะฉะนั้น เราต้องหยิบพินัยกรรมฉบับก่อนและหลังมาเทียบกันว่า ตรงไหนขัดกันบ้าง เช่น ฉบับก่อนตกลงยกบ้านให้นาย A แต่ฉบับหลังเปลี่ยนเป็นยกบ้านให้นาย B แบบนี้เท่ากับฉบับก่อนกับหลังขัดกัน กฎหมายกำหนดให้พินัยกรรมฉบับก่อนถูกเพิกถอนไปเฉพาะส่วนที่ขัด ดังนั้น พินัยกรรมส่วนที่ยกบ้านให้นาย A ซึ่งเป็นฉบับก่อนก็จะถูกเพิกถอนไป บังคับใช้พินัยกรรมที่ยกบ้านให้นาย B แทนนั่นเอง แต่ถ้าขัดกันทั้งฉบับเลย แบบนี้ฉบับก่อนก็ถูกเพิกถอนไปทั้งหมดครับ

           แต่แน่นอนว่า การที่ทำพินัยกรรมฉบับหลังให้มีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อน ๆ พินัยกรรมฉบับหลังก็จะต้องทำให้ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดด้วย เพราะหากทำไม่ถูก ต้องตามแบบพินัยกรรมฉบับหลังก็จะเป็นโมฆะ พินัยกรรมฉบับก่อนก็จะมีผลใช้บังคับเหมือนเดิมครับ

Info - พินัยกรรม ทำหลายฉบับได้หรือไม่ ผลเป็นอย่างไร

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีมรดก คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีมรดกหรือ จ้างทนายคดีมรดก คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด