ฟ้องแบ่งแยกที่ดินที่ได้แยกครอบครองเป็นสัดส่วนแล้ว ทำอย่างไร

ที่ดินกรรมสิทธิ์รวมและแยกครอบครองเป็นสัดส่วนแล้ว
แบ่งอย่างไรได้บ้าง ?

ฟ้องแบ่งแยกที่ดินที่ได้แยกครอบครองเป็นสัดส่วนแล้ว ทำอย่างไร

             ที่ดินกรรมสิทธิ์รวมเป็นที่ดินที่มีผู้เป็นเจ้าของหลายคน ซึ่งเมื่อเป็นที่ดินที่เป็นทรัพย์มีทะเบียน เราก็จะสามารถรู้ว่าใครเป็นเจ้าของบ้างจากสารบัญจดทะเบียนของที่ดินนั้น ๆ ซึ่งกฎหมายก็สันนิษฐานเอาไว้ก่อนเลยว่า เจ้าของรวมทุกคนเป็นเจ้าของในส่วนเท่า ๆ กัน

              ซึ่งเรื่องที่ผมจะเอามาเล่าให้ฟังในวันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการแบ่งที่ดินที่มีเจ้าของหลายคนว่าโดยหลักต้องทำอย่างไร แล้วถ้าต้องมีการฟ้องล่ะต้องทำอย่างไรบ้าง ถ้าพร้อมกันแล้ว ไปดูกันเลยครับ

การแบ่งที่ดินกรรมสิทธิ์รวม

             ถ้าที่ดินเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์รวม มีเจ้าของในที่ดินนั้นหลายคน เราจะเรียกเจ้าของเหล่านั้นว่า “เจ้าของรวม” โดยกฎหมายกำหนดให้เจ้าของรวมคนหนึ่งมีสิทธิที่จะเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ ยกเว้นกรณีที่มีการทำนิติกรรมห้ามแบ่งเอาไว้ ก็จะแบ่งไม่ได้ครับ นิติกรรมห้ามแบ่งดังกล่าวเป็นนิติกรรมที่ตัดสิทธิเจ้าของรวมที่จะเรียกให้แบ่ง ซึ่งในการทำนิติกรรมห้ามแบ่งจะกำหนดตัดสิทธิครั้งละเกิน 10 ปี ไม่ได้

วิธีการแบ่งตามปกติ

             โดยปกติแล้ว เมื่อมีการเรียกให้แบ่งที่ดินกัน เจ้าของรวมจะแบ่งยังไงก็ได้ ตามความพอใจของเจ้าของรวมทั้งหมด จะแบ่งไม่เท่ากันก็ไม่มีปัญหาครับ แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ขึ้นมา คนนู้นก็อยากได้ที่ตรงนี้ คนนี้ก็อยากได้ที่ตรงนั้น หรือแบ่งแบบนี้ไม่ยุติธรรม คนนี้ได้ไม่เท่าคนนี้ กฎหมายก็มีอีกวิธีการหนึ่งให้ก็คือเอาที่ดินนั้นออกขายแล้วนำเงินมาแบ่งกัน

             แต่ถ้าแบ่งกันไม่ได้ก็แล้ว จะขายแล้วเอาเงินมาแบ่งกันก็ไม่เอาอีก เท่ากับยังไงเจ้าของรวมก็ตกลงกันไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น ที่พึ่งสุดท้ายก็คือศาลนั่นเอง ในกรณีที่ตกลงกันไม่ได้ กฎหมายก็ให้สิทธิเจ้าของรวมคนหนึ่งที่จะฟ้องแบ่งแยกที่ดินกรรมสิทธิ์รวมได้ แต่เมื่อถึงศาลแล้ว วิธีการแบ่งที่ศาลมีอำนาจให้แบ่งได้มีดังนี้
1. ศาลสั่งให้แบ่ง แต่ถ้าแบ่งได้ไม่เท่ากัน ศาลจะสั่งให้จ่ายเป็นเงินทดแทนกันสำหรับคนที่ได้ที่ดินน้อยกว่าก็ได้ แต่วิธีนี้ก็ไม่ค่อยได้ผลหรอกครับ เพราะถ้าแบ่งกันได้จริง ๆ คงไม่ต้องมาฟ้องศาล
2. กรณีแบ่งไม่ได้หรือถ้าแบ่งจะทำให้เสียหายมาก ศาลจะสั่งให้ขายโดยวิธีประมูลราคาระหว่างเจ้าของรวมกันเอง หรือให้ขายทอดตลอด แล้วนำเงินมาแบ่งกันก็ได้
ซึ่งวิธีการที่กล่าวไปจะใช้กับที่ดินกรรมสิทธิ์รวมที่ไม่ได้มีการแบ่งแยกการครอบครองที่ชัดเจน

แบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วน ต้องแบ่งตามที่ได้ครอบครอง

            ทีนี้เรามาดูวิธีการแบ่งแยกที่ดินที่มีการแย่งแยกการครอบครองกันแล้วดีกว่าครับ กรณีเจ้าของรวมมีการเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือมีการเข้าไปครอบครองในที่ดินจริง ๆ โดยการครอบครองของแต่ละคนก็ได้มีการแยกสัดส่วนการครอบครองกันอย่างชัดเจน เช่น อาจจะมีการล้อมรั้ว วางแนวเขต หรือเจ้าของรวมรู้กันว่าใครเป็นเจ้าของในส่วนตรงไหน กรณีนี้จะไปใช้วิธีการแบ่งที่ผมกล่าวไปแล้วไม่ได้ครับ

วิธีการแบ่ง กรณีได้แยกการครอบครองเป็นสัดส่วนแล้ว

            วิธีการแบ่งในกรณีนี้ ทำได้ไม่ยากครับเพราะเจ้าของรวมก็แยกการครอบครองในส่วนของตัวเองกันแล้ว อาจถือได้ว่าทุกคนพอใจในส่วนที่ตัวเองครอบครอง โดยมีวิธีการแบ่งดังนี้
1. เจ้าของรวมตกลงกันว่าจะไปแบ่ง และไปแจ้งต่อสำนักงานที่ดินที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่
2. ทำการนัดและรังวัดที่ดินว่าแต่ละคนครอบครองในส่วนไหน มีพื้นที่เท่าไหร่บ้าง
3. แบ่งที่ดินกันตามที่ได้รังวัด และแยกโฉนดของแต่ละคนออกมา

ฟ้องแบ่งแยกที่ดินที่แยกการครอบครองเป็นสัดส่วนแล้ว

            ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการจะแบ่งแยกที่ดิน หากมีคนเดียวที่ต้องการแบ่งและคนอื่นไม่ยอม แต่มีการแยกการครอบครองเป็นสัดส่วนแล้ว แบบนี้สามารถฟ้องเป็นคดีต่อศาลเพื่อขอแบ่งส่วนของตัวเองออกมาได้ ซึ่งศาลก็จะให้ทำการรังวัดและทำแผนที่พิพาทออกมา และหากชัดเจนจริง ๆ ว่ามีการแบ่งแยกการครอบครองแล้ว ส่วนใหญ่ศาลก็จะให้แบ่งแยกที่ดินออกมาตามส่วนที่ผู้นั้นครอบครองครับ (ฎ.6034/2551)

Info - ฟ้องแบ่งที่ดิน แยกการครอบครองแล้ว

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีที่ดิน คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีที่ดินหรือ จ้างทนายคดีที่ดิน คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด