ลักกระแสไฟฟ้า!!!

ลักกระแสไฟฟ้า!!!

ลักกระแสไฟฟ้า!!!

                       #ทนายเล่าเรื่อง ในวันนี้ผมขอหยิบยกประเด็นที่เกี่ยวกับการลักกระแสไฟฟ้า ว่าเป็นทรัพย์หรือไม่ และมีความผิดทางกฎหมายหรือเปล่า และมาดูกันว่าในศาลชั้นต้น ศาลชั้นอุทธรณ์ และศาลชั้นฎีกา มีคำสั่งเช่นไรกับข้อเท็จจริงนี้ครับ

                     เหตุการณ์เกิดขึ้นจากมีการลักกระแสไฟฟ้า แล้วพนักงานอัยการจึงฟ้องว่านาย ข. กับ นาย ค. ที่ยังไม่ได้ตัว สมคบกันลักทรัพย์(กระแสไฟฟ้า) ของการไฟฟ้ากรุงเทพฯ กรมโยธาเทศบาล เป็นราคา 9 บาทขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 293, 294, 63 ซึ่งนาย ข. กับนาย ค. ได้ปฏิเสธ
ศาลอาญาพิพากษาว่า นาย ข. กับนาย ค. มีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 293 ให้จำคุก คนละ 6 เดือนแต่ให้รอการลงโทษไว้ 1 ปีให้นาย ข.กับ นาย ค. ใช้ค่ากระแสไฟฟ้า 9 บาทด้วย

                     นาย ข. และนาย ค. อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ฟังว่านาย ค. ไม่ได้ร่วมทำผิดด้วย พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องนาย ค.

                    พนักงานอัยการฎีกาขอให้ลงโทษนาย ค.ด้วย นาย ข. ฎีกาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของนาย ข. เฉพาะข้อกฎหมายที่ว่า กระแสไฟฟ้าไม่ใช่ทรัพย์ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา จึงย่อมลักกันไม่ได้

                      ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่มีมติว่า การลักกระแสไฟฟ้าย่อมเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 หรือ 335 แล้วแต่กรณี
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าตามรูปคดียังไม่พอจะเอาผิดแก่นาย ค. ฐานสมคบกับนาย ข.ลักกระแสไฟฟ้ารายนี้ ศาลฎีกาพิพากษายืน

                      จะเห็นได้ว่า ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกันเลยก็คือ การลักกระแสไฟฟ้า “กระแสไฟฟ้า” เป็นทรัพย์หรือเปล่า ซึ่งแม้กระแสไฟฟ้าจะเป็นวัตถุที่ไม่มีรูปร่าง แต่กระแสไฟฟ้าก็เป็นทรัพย์สิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138 ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ เมื่อกระแสไฟฟ้าเป็นทรัพย์ การลักกระแสไฟฟ้าย่อมเป็นความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 หรือ 335 แล้วแต่กรณีนั้นเอง
การที่นาย ข. อุทธรณ์ว่า “กระแสไฟฟ้าไม่ใช่ทรัพย์ตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา จึงย่อมลักกันไม่ได้” จึงฟังไม่ขึ้น

(อ้างอิง : ฏ.887/2501)

ติดต่อ ปรึกษาทนาย หรือ จ้างทนาย คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด

การออกหมายบังคับคดีทุกคนอาจคุ้นเคย การยึดทรัพย์ การอายัดทรัพย์ หรือการเอาทรัพย์ขายทอดตลาด ที่จะได้ยินบ่อยที่สุด ซึ่งตามมาตรา 213 จะกำหนดสภาพแห่งการบังคับคดีเพียงเท่าที่เปิดช่องให้กระทำทางศาล หรือโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งจะมีอะไรบ้างมาดูกันได้เลยค่ะ