ลูกจ้างรายวัน No Work No Pay จริงหรือไม่ ตอนที่ 1

ลูกจ้างรายวัน

ในการประกอบกิจการปัจจุบันคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “ลูกจ้าง” นับเป็นกำลังหลักและเป็นกำลังที่สำคัญในทุกภาคส่วน หรือแม้แต่กิจการในครัวเรือนเองก็ยังจำต้องอาศัยลูกจ้างในการทำงาน อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมาก อำนาจต่อรองของลูกจ้างก็ยิ่งลดน้อยลง ทำให้ถูก “นายจ้าง” เอารัดเอาเปรียบในทุกโอกาสทุกสถานการณ์ ดังนั้น แทบทุกประเทศจึงได้ออก “กฎหมายแรงงาน” ขึ้นเพื่อเป็นข้อบังคับนายจ้างไม่ให้เอารัดเอาเปรียบลูกจ้าง และกำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานที่ลูกจ้างพึงมีไว้ หากนายจ้างฝ่าฝืนย่อมมีโทษตามกฎหมายได้

วันนี้ผู้เขียนจะพาทุกท่านเข้าไปทำความรู้จักกับมุมหนึ่งของประเด็นทางกฎหมายแรงงานที่น่าสนใจ นั่นคือ “สิทธิของลูกจ้างรายวัน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 นี้ ลูกจ้างบางคนคงกำลังสงสัยว่าถ้าหยุดงานไปเพราะติดโควิด นายจ้างยังจะจ่ายค่าจ้างไหมนะ?

คำที่เกี่ยวข้องกับลูกจ้าง

ก่อนที่เราจะเข้าสู่ประเด็นทางกฎหมายแบบจริงจัง ผู้เขียนขอแนะนำตัวละคร (คำศัพท์) ในกฎหมายแรงงานที่ผู้อ่านพึงทราบกันก่อนที่จะเข้าสู่ประเด็นของบทความนี้ เพื่อจะได้เข้าใจในเรื่องราวต่อไปได้ง่ายยิ่งขึ้น

ตัวละครที่ 1 “กฎหมายแรงงาน” คำว่า กฎหมายแรงงานนี้ถ้าเอ่ยกันลอย ๆ จะครอบคลุมกฎหมายหลายฉบับมาก เพราะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานมีอยู่หลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองแรงงาน การจ่ายเงินทดแทนกรณีประสบอุบัติเหตุหรือเสียชีวิตจากการทำงาน การจัดตั้งองค์กรทางแรงงาน แต่เอาเป็นว่าในบทความฉบับนี้คำว่า กฎหมายแรงงานของผู้เขียนหมายถึง “พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541” เท่านั้น เข้าใจตรงกันนะ!!
ตัวละครที่ 2 “ลูกจ้าง” หมายถึง ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร ฉะนั้น ในสัญญาจะเขียนว่าอย่างไรไม่ต้องไปสนใจนะ!!
ตัวละครที่ 3 “ค่าชดเชย” หมายถึง เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง

ลูกจ้างรายเดือน กับ ลูกจ้างรายวัน

ในลักษณะของการจ้างแรงงานนั้น หลายคนคงคุ้นเคยกับคำว่า “ลูกจ้างรายเดือน” ซึ่งคนส่วนมากมักจะนึกถึงพนักงานที่ทำงานอยู่ในสำนักงานต่าง ๆ ส่วน “ลูกจ้างรายวัน” คนส่วนมากก็มักจะนึกถึงผู้ใช้แรงงานแบกหามตามสถานที่ต่าง ๆ แต่ความเข้าใจของคนทั่วไปกับสิ่งที่เขียนไว้ในกฎหมายจะเหมือนกันหรือไม่?

แท้จริงแล้วในกฎหมายแรงงานมิได้นิยามคำว่า “ลูกจ้างรายเดือน” หรือ “ลูกจ้างรายวัน” แยกไว้ต่างหาก คงมีแต่เพียงนิยามของคำว่า “ลูกจ้าง” ตามที่ผู้เขียนได้ให้ความหมายไว้ตอนต้นเท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากในสายตาของกฎหมายแล้ว ทั้งลูกจ้างรายเดือนและลูกจ้างรายวันต่างก็เป็น “ลูกจ้างของนายจ้าง” ทั้งสิ้น จึงไม่มีเหตุอันใดที่จะทำให้กฎหมายต้องเลือกคุ้มครองลูกจ้างรายเดือนหรือลูกจ้างรายวันให้ต่างกันนั่นเอง

ลูกจ้างรายเดือนกับลูกจ้างรายวันต่างกันอย่างไร

คำตอบก็คือต่างกันในเรื่องของ “วิธีการคำนวณค่าจ้าง”
แน่นอนว่าหากเป็นลูกจ้างรายวันนั้นแสดงว่าการคำนวณค่าจ้างที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างก็ถูกคิดคำนวณเป็นอัตรารายวันตามที่ลูกจ้างตกลงทำงานให้นายจ้าง แต่หากเป็นลูกจ้างรายเดือนนั้น นายจ้างก็จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างใน “อัตราเหมา” ของทุก ๆ เดือน โดยมิได้คำนึงว่าในหนึ่งเดือนลูกจ้างจะทำงานทั้งหมดกี่วัน ดังนั้น ไม่ว่าเดือนนั้นจะมี 28, 29, 30 หรือ 31 วัน นายจ้างก็ยังคงต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างในอัตราเท่ากันทุกเดือนนั่นเอง

ข้อแตกต่างอีกประการหนึ่งก็คือ การคำนวณค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ ซึ่งหากเป็นลูกจ้างรายเดือนนั้นกฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ให้แก่ลูกจ้างด้วย (มาตรา 56) นั่นหมายถึงค่าจ้างในอัตราเหมาที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างรายเดือนนั้นได้คำนวณรวมเอาวันหยุดประจำสัปดาห์ของลูกจ้างเข้าเป็นฐานแห่งการคำนวณไว้แล้ว แต่หากเป็นลูกจ้างรายวันแล้ว เมื่อไม่ได้ทำงานให้นายจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์ นายจ้างก็ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างในส่วนนี้

แล้วอย่างนี้ ลูกจ้างรายวันจะมีสิทธิหยุดตามประเพณี หยุดพักผ่อนประจำปี และมีสิทธิลาต่าง ๆ หรือไม่? และนายจ้างยังคงต้องจ่ายค่าจ้างในวันหยุด หรือวันลาให้แก่ลูกจ้างรายวันหรือไม่?

หาคำตอบพร้อมกันได้ในตอนถัดไป ลูกจ้างรายวัน ตอนที่ 2

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีแพ่ง คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีแพ่งหรือ จ้างทนายคดีแพ่ง คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด