ศาลซื้อขายออนไลน์

ศาลซื้อขายออนไลน์

การซื้อขายบนโลกออนไลน์เป็นเทรนด์ในปัจจุบันมานานแล้ว ยิ่งช่วงโควิดระบาดหนักๆ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ซึ่งการซื้อขายออนไลน์เป็นเรื่องที่สะดวก รวดเร็ว และง่ายต่อการเลือกซื้อของผู้บริโภค แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการซื้อของออนไลน์ที่แลกมากับความสะดวกก็มีมากมายหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าปลอมบ้าง ไม่ตรงปกบ้าง ชำรุดเสียหายบ้าง โดนโกงโดนหลอกบ้าง หรือบางทีสินค้าที่ได้ก็ดันไม่ใช่สินค้าที่สั่งเลยก็มีครับ 

          ซึ่งต้องบอกว่าปัญหานี้เป็นปัญหาในวงกว้าง มีผู้บริโภคเสียหายเยอะ แต่ถึงจะเสียหาย กรณีส่วนใหญ่ก็จะเสียหายไม่มาก มักจะเป็นหลักร้อยหลักพัน จนมองว่าถึงจะไปฟ้องก็ไม่คุ้มเพราะต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี และขั้นตอนกระบวนการต่างๆ หลังฟ้องก็แสนจะวุ่นวายและมากมาย จึงไม่คุ้มที่จะไปเสียเวลา ศาลจึงมองเห็นปัญหาตรงนี้และได้จัดตั้ง ‘แผนกคดีซื้อขายออนไลน์ขึ้น’ โดยเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 เมื่อต้นปีนี้เลยครับ 

โดยศาลแผนกคดีซื้อขายออนไลน์นี้ใช้ระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบในทุกขั้นตอนของกระบวนการ เพื่อให้ผู้บริโภคที่ต้องการจะใช้สิทธิทางศาลฟ้องคดีได้รับความสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาไปศาลบ่อยๆ แถมยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ ของผู้บริโภคได้อีกด้วย

เงื่อนไขในการฟ้องคดี

หลายคนกังวลว่าเสียหายหลักร้อยหลักพันแบบนี้ ศาลจะรับคดีหรอ คำตอบคือรับครับ รับทั้งหมดนั่นแหละไม่ว่าจะทุนทรัพย์จะเท่าไหร่ก็ตาม ส่วนตัวสินค้าจะเป็นอะไรก็ได้เลย ไม่ได้มีการจำกัดว่าจะต้องเป็นสินค้าแบบไหน ชนิดไหน แต่เงื่อนไขที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องที่จะเอามาฟ้องจะต้องเป็นการซื้อขายกันผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น ถ้าซื้อขายแบบออฟไลน์คือ รับของมา จ่ายเงินไป ซื้อของกันตามปกติที่หน้าร้าน ถ้าจะฟ้องต้องไปฟ้องเป็นคดีปกติครับ 

ขั้นตอนในการยื่นฟ้อง

 1) เข้าไปที่เว็บไซต์ https://efiling3.coj.go.th/eFiling หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ของศาลแพ่ง จากนั้นสร้างบัญชีผู้ใช้งานของตนเอง โดยผู้บริโภคจะต้องเลือกประเภทผู้ใช้งานสำหรับประชาชน หรือยื่นฟ้องในฐานะประชาชน 

2) หลังจากลงทะเบียนเสร็จ ให้เข้าสู่ระบบและยืนยันเงื่อนไขการใช้งาน 

3) เลือกเมนูคดีซื้อขายออนไลน์ พร้อมกรอกรายละเอียดคำฟ้อง ข้อมูลโจทก์ จำเลย ข้อมูลคำฟ้อง พร้อมแนบเอกสารหรือหลักฐานการซื้อขายสินค้านั้นๆ มูลเหตุที่เรียกร้อง ข้อมูลความเสียหาย ราคา และสามารถระบุพยานได้ เป็นต้น 

4) ระบบส่งจะคำฟ้องไปถึงเจ้าพนักงานคดีในศาลแพ่งเพื่อทำการตรวจสอบคำฟ้องว่า ข้อเท็จจริงนั้นครบถ้วนหรือไม่ หากคำฟ้องตรงตามเงื่อนไขการพิจารณาคดีซื้อขายออนไลน์และข้อมูลถูกต้องครบถ้วนแล้ว เจ้าพนักงานคดีจะเสนอคำฟ้องเพื่อให้ศาลรับคำฟ้อง

5) เจ้าพนักงานคดีส่งหมายเรียกให้จำเลยทางอีเมล เมื่ออีเมลถูกส่งไปยังกล่องข้อความ (Inbox) ของอีเมลจำเลยแล้ว จะถือว่าจำเลยได้รับหมายเรียกแล้ว

6) เมื่อเข้าสู่กระบวนการของศาลแล้ว ศาลจะดำเนินการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีแพ่ง คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีแพ่งหรือ จ้างทนายคดีแพ่ง คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด