สัญญาก่อนสมรส

สัญญาก่อนสมรส เป็นสัญญาที่ทำขึ้นก่อนที่จะจดทะเบียนสมรสกัน

สัญญาก่อนสมรส

           การแต่งงานหรือจดทะเบียนสมรสทำให้คู่สมรสผูกพันกันทั้งทางกายและทางใจ แต่ที่สำคัญเลยคือเรื่องทรัพย์สินที่จะถูกนำมาผูกโยงเข้าด้วยกันเวลาที่ใครหาทรัพย์สินมาเพิ่มได้หลังจากสมรส แต่กฎหมายก็มีการกำหนดเรื่องสัญญาก่อนสมรสเอาไว้ โดยจะเป็นสัญญาระหว่างคู่ที่กำลังจะจดทะเบียนสมรสสามารถทำได้ก่อนจดทะเบียน ส่วนในสัญญาจะตกลงกันเรื่องอะไรได้บ้าง วันนี้เราจะพาทุกคนไปดูกันครับ

สัญญาก่อนสมรสคืออะไร

          สัญญาก่อนสมรสเป็นสัญญาที่ทำขึ้นก่อนที่จะจดทะเบียนสมรสกันโดยในสัญญาจะตกลงกันเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสครับ โดยสัญญานี้จะใช้บังคับระหว่างสามีกับภริยา ที่หากสมรสกันแล้ว ในอนาคตเกิดมีปัญหาเรื่องทรัพย์สินกันขึ้นมาจริงก็จะต้องกลับมาดูที่สัญญานี้ก่อน หากมีการกำหนดกันไว้เป็นพิเศษก็ต้องยึดตามสัญญา แต่ถ้าไม่ได้กำหนดกันไว้ก็จะต้องกลับไปดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องครับ

          ในปัจจุบันคนไทยสมรสกับคนต่างประเทศมากขึ้น หากมีการทำสัญญาก่อนสมรสกัน จะต้องใช้กฎหมายไทยบังคับเท่านั้น หากมีการตกลงกันในสัญญาให้นำกฎหมายต่างประเทศมาใช้บังคับ สัญญานั้นก็จะเป็นโมฆะทันทีครับ 

แบบของสัญญา

1.สัญญาก่อนสมรสจะต้องจดแจ้งข้อตกลงไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมกับการจดทะเบียนสมรส หรือ

2.ทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สมรสและมีพยานลงชื่ออย่างน้อย 2 คนแนบไว้ท้ายทะเบียนสมรสและจดไว้ในทะเบียนสมรสพร้อมการจดทะเบียนสมรสว่ามีสัญญานั้นแนบไว้

หากไม่ทำอย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 แบบด้านบน สัญญาก่อนสมรสที่ได้ตกลงกันก็จะตกเป็นโมฆะครับ ที่กฎหมายกำหนดแบบไว้เคร่งครัดแบบนี้ หนึ่งก็เพื่อเป็นหลักฐาน และสองเพื่อให้บุคคลภายนอกทราบได้ว่าคู่สมรสมีสัญญากันไว้อย่างไร และใครมีอำนาจจัดการทรัพย์สินได้อย่างไร

ข้อตกลงในสัญญาก่อนสมรส

ในสัญญาก่อนสมรสนี้ จะต้องตกลงกันเกี่ยวกับทรัพย์สินครับ โดยกฎหมายเปิดให้คู่สมรสหรือสามีภริยาสามารถตกลงกันเรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาได้เต็มที่ สามารถตกลงแตกต่างจากที่กฎหมายในหมวดทรัพย์สินระหว่างสามีภริยากำหนดไว้ได้เลย เช่น ให้ใครเป็นผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์สิน กำหนดว่าทรัพย์ใดเป็นสินส่วนตัว ทรัพย์ใดเป็นสินสมรส รวมถึงตกลงเรื่องการแบ่งสินสมรสได้ด้วยครับ

 ซึ่งหากตกลงกันและดำเนินการตามแบบเรียบร้อยแล้ว ภายหลังที่สมรสกันนึกอยากจะเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาก็ไปเปลี่ยน แบบนี้ทำไม่ได้นะครับ กฎหมายกำหนดชัดเจนเลยว่าหากจะเปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเท่านั้น หากไปหานายทะเบียนก่อน นายทะเบียนก็จะไม่ดำเนินการให้ครับ เขาจะขอคำสั่งศาลที่ให้เปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนจากเราก่อนเพื่อเป็นการยืนยันนั่นเอง 

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีครอบครัว คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีครอบครัวหรือ จ้างทนายคดีครอบครัว คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด