หนังสือยินยอมให้ปกครองบุตร ทำได้ในกรณีใดบ้าง?

#ทำได้หรือไม่ หนังสือยินยอมให้ปกครองบุตร ทำได้ในกรณีใดบ้าง?

หนังสือยินยอมให้ปกครองบุตร ทำได้ในกรณีใดบ้าง?

                บุตรผู้เยาว์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะยังไม่สามารถทำอะไรเองได้ ไม่สามารถหาเลี้ยงดูตัวเองได้ กฎหมายจึงเข้ามาช่วยโดยการกำหนดให้พ่อแม่มีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ และในการอุปการะเลี้ยงดูนั้นก็ต้องมีอำนาจในการควบคุมดูแลผู้เยาว์ด้วย นั่นก็คือ อำนาจปกครองบุตร แต่อำนาจปกครองบุตรนี้เราสามารถโอนให้คนอื่นเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองโดยการทำเป็นหนังสือยินยอมให้ปกครองบุตรได้หรือไม่? เราไปดูพร้อม ๆ กันเลยครับ

อำนาจปกครองบุตร

                 ในเรื่องอำนาจปกครองบุตร กฎหมายกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566 บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา จะเห็นได้ว่ากฎหมายกำหนดเอาไว้เลยว่าบุตรต้องอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา ซึ่งกฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เท่ากับว่า จะตกลงให้แตกต่างจากกฎหมายนี้ไม่ได้เลยครับ

สิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครอง

1.กำหนดที่อยู่ของบุตร

2.ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน

3.ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป

4.เรียกบุตรคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

การตกลงให้บิดาหรือมารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรเพียงฝ่ายเดียวหรือตกลงให้คนอื่นที่ไม่ใช่บิดามารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรไม่ได้

              อย่างที่บอกว่าในเรื่องอำนาจปกครองจะตกลงเป็นอย่างอื่นนอกจากที่กฎหมายกำหนดไม่ได้ เพราะฉะนั้นบิดามารดาจะทำข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้อำนาจปกครองบุตรให้แตกต่างจากกฎหมายไม่ได้ เช่น ตกลงกันเองว่าในระหว่างสมรสให้บิดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว หรือให้บิดากับลุงเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองโดยทำเป็นหนังสือยินยอมให้ปกครองบุตร แบบนี้ตกลงกันไม่ได้ครับ

ข้อตกลงให้ใช้อำนาจปกครองบุตร

            การจะตกลงเรื่องอำนาจปกครองบุตรจะตกลงกันได้ก็เฉพาะที่กฎหมายกำหนดให้ตกลงกันได้เท่านั้น โดยกฎหมายกำหนดอนุญาตให้บิดามารดาสามารถตกลงกันได้ว่าจะให้ใครเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรเฉพาะกรณีที่การสมรสสิ้นสุดลงเท่านั้น โดยสามารถตกลงกันได้ 2 กรณีครับ
1.การหย่าโดยความยินยอม
ตามมาตรา 1520 ได้มีการกำหนดว่า กรณีหย่าโดยความยินยอม ให้สามีภริยาทำความตกลงเป็นหนังสือว่าจะให้ฝ่ายใดเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด…
2.การฟ้องให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ
ตามมาตรา 1499/1 ได้มีการกำหนว่า กรณีที่การสมรสเป็นโมฆะ (เหตุที่ทำให้การสมรสเป็นโมฆะอยู่ในมาตรา 1495) ข้อตกลงระหว่างคู่สมรสว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ให้ทำเป็นหนังสือ…

หนังสือยินยอมให้ปกครองบุตร

          การจะตกลงเรื่องอำนาจปกครองบุตรได้ก็จะต้องเป็นกรณีตาม 1.การหย่าโดยความยินยอมและ 2.การฟ้องให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ เท่านั้น ซึ่งกฎหมายให้ทำเป็นหนังสือ เราก็จะต้องทำหนังสือยิมยอมให้ปกครองบุตรขึ้นมาตกลงกันว่าจะให้ใครปกครอง รวมถึงตกลงกันเรื่องสิทธิหน้าที่อื่น ๆ ด้วยครับ
หนังสือยินยอมให้ปกครองบุตร ก็จะตกลงกันว่าให้อำนาจปกครองอยู่บุตรคนใดอยู่กับใคร คือกำหนดแยกสำหรับบุตรแต่ละคนได้เลยครับ เช่น มีบุตร 2 คน ก็สามารถตกลงได้เลยว่า บุตรคนแรกให้พ่อมีอำนาจปกครอง ส่วนบุตรคนที่สองให้แม่มีอำนาจปกครอง หรืออาจจะตกลงให้พ่อหรือแม่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตรแต่เพียงฝ่ายเดียวเลยก็ได้ครับ
            นอกจากจะตกลงกันเรื่องให้อำนาจปกครองอยู่กับใครแล้ว ยังสามารถกำหนดเรื่องสิทธิ
หน้าที่อื่นได้อีกด้วย เช่น สิทธิในการได้พบบุตร หรือกำหนดว่าวันใดเวลาใดที่จะให้ไปอยู่กับอีกฝ่ายที่ไม่ได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร หรือเรื่องอื่น ๆ ตามที่ตกลงกัน เพราะไม่ว่ายังไงอีกฝ่ายก็มีสถานะเป็นพ่อหรือแม่ของลูกอยู่ดีครับ เพราะฉะนั้นก็ควรตกลงกันให้เป็นประโยชน์กับบุตรจะดีที่สุดครับ

กรณีตกลงกันไม่ได้ว่าจะให้ใครปกครองบุตร

                กรณีที่ไม่สามารถทำหนังสือยินยอมให้ปกครองบุตรได้หรือก็คือไม่สามารถตกลงกันได้ โดยทั้งสองกรณีคือ การหย่าโดยความยินยอมหรือการฟ้องให้พิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ กฎหมายก็กำหนดให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดครับ
                 ก็จบกันไปแล้วนะครับ สำหรับใครที่ต้องการทำเรื่องหย่าและตกลงเรื่องอำนาจปกครอง ทางสำนักงานของเราก็มีบริการทำ “หนังสือยินยอมให้ปกครองบุตร” ด้วย เพราะฉะนั้นใครที่กลัวว่าทำเองแล้วจะผิดหรือไม่รู้ว่าควรตกลงกันเรื่องอะไรบ้างก็สามารถทักเข้ามาที่ line@ หรือโทรเข้ามาปรึกษากับทางสำนักงานเราเพื่อรับคำปรึกษาเบื้องต้นก่อนได้เลยครับ

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีครอบครัว คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีครอบครัวหรือ จ้างทนายคดีครอบครัว คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด