แอบบันทึกเสียงเป็นหลักฐานในคดีได้ไหม

การแอบบันทึกเสียงรับฟังเป็นหลักฐานในคดีอาญาได้หรือไม่

เมื่อกล่าวถึงพยานหลักฐานในคดีอาญา บุคคลทั่วไปมักจะเข้าใจว่าเทปบันทึกเสียงหรือการอัดเสียงนับเป็นพยานหลักฐานชั้นดีในการพิสูจน์ความผิด แต่ในทางกฎหมายแล้วนั้นนอกจากประเภทของพยานไม่ว่าจะเป็นประจักษ์พยานซึ่งเป็นพยานที่ได้พบเห็นเหตุการณ์โดยตรงแล้ว หรือพยานบอกเล่าซึ่งเป็นพยานที่แสดงคำกล่าวของประจักษ์พยาน อาจมีผลในการรับฟังพยานหลักฐานแล้ว วิธีการได้มาซึ่งพยานหลักฐานก็มีผลสำคัญต่อรูปคดีที่เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โดยหลักก็ต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน

หลักการรับฟังพยานหลักฐานในทางอาญา

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ได้กำหนดให้พยานหลักฐานที่ใช้พิสูจน์ความผิดของจำเลยได้นั้นจะต้องมิใช่พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นจากการจูงใจ ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น ซึ่งถือเป็นบทหลักแห่งการรับฟังพยานหลักฐานว่าพยานหลักฐานที่ใช้พิสูจน์ความผิดได้นั้น แม้พยานหลักฐานนั้นจะแสดงข้อเท็จจริงให้ปรากฏได้ แต่หากวิธีการได้มาซึ่งพยานหลักฐานนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายก็จะถูกตัดมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าว อันถือเป็นหลักในการตัดพยานของเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนไม่ให้เกิดการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ

อย่างไรก็ตาม มาตรา 226/1 ได้บัญญัติต่อไปว่าแม้พยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบจะถูกห้ามมิให้รับฟังแต่ก็มีข้อยกเว้นให้ศาลรับฟังได้หากพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียที่จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน แต่ทั้งนี้ ศาลจะต้องใช้ดุลพินิจในการรับฟังหลักฐานประเภทนี้อย่างเคร่งครัด เพราะเป็นพยานหลักฐานที่อาจกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมหรือสิทธิของประชาชนได้

การแอบบันทึกเสียงของบุคคลธรรมดากับปัญหาในการรับฟังพยานหลักฐาน

ในเรื่องของการรับฟังบันทึกเสียงที่เกิดจากการแอบบันทึกของบุคคลธรรมดานั้นถือเป็นเรื่องที่มีประเด็นถกเถียงกันในทางกฎหมายมาเป็นเวลานาน เนื่องจากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226 นั้นเป็นบทตัดพยานของเจ้าพนักงานรัฐ แต่โดยแนวคำพิพากษาที่ผ่านมาก็ได้วางหลักไว้ว่ามาตราดังกล่าวไม่ได้บัญญัติห้ามนำไปใช้กับการแสวงหาพยานหลักฐานของบุคคลธรรมดา หมายความว่าการแสวงหาพยานหลักฐานของบุคคลธรรมก็ยังตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 226 ที่จะต้องใช้พยานหลักฐานที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แต่เดิมเคยมีแนวคำพิพากษาฎีกาที่วางแนวไว้ว่าถ้าเป็นการอัดเสียงของคู่สนทนาเองไม่ถือเป็นพยานหลักฐานที่มิชอบด้วยกฎหมาย เช่น ฎีกาที่ 1123/2509 และฎีกาที่ 4674/2543 แต่ก็มีประเด็นคำถามเกิดขึ้นว่าแท้จริงแล้วแม้ตัวคู่สนทนาจะเป็นผู้อัดเสียงเองแต่เป็นการอัดเสียงโดยมิได้รับความยินยอมจากคู่สนทนาอีกฝ่ายนั้นจะถือเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายได้อย่างไร เมื่อมิใช่การกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายพยานหลักฐานที่ได้มานั้นก็ไม่อาจได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายด้วยเช่นกัน เนื่องจากตามกฎหมายแล้วตัวคู่สนทนาย่อมมีสิทธิในความเป็นส่วนอันไม่อาจถูกละเมิดได้ (และในปัจจุบันสิทธิในความเป็นส่วนตัวนี้ยิ่งถูกตอกย้ำโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562) และการบันทึกเสียงโดยไม่แจ้งคู่สนทนาล่วงหน้านั้นก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมประการหนึ่งคือ คู่สนทนาฝ่ายที่ทำการบันทึกเสียงอาจชี้นำให้คู่สนทนาอีกฝ่ายหนึ่งตอบหรือพูดเฉพาะในสิ่งที่ตนต้องการแต่เพียงฝ่ายเดียวได้ ซึ่งในการพิจารณาคดีที่ผ่านมาศาลสามารถใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานนั้นได้ตามมาตรา 226/1 ดังเช่นในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2281/2555 โดยศาลให้เหตุผลว่า แม้เทปบันทึกเสียงรวมถึงบันทึกการถอดเทปดังกล่าวจะได้มาโดยมิชอบแต่เมื่อศาลนำมารับฟังจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากการกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรม ศาลฎีกาจึงนำพยานหลักฐานดังกล่าวมารับฟังได้ หรือในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 50/2563 ก็วินิจฉัยในทำนองเดียวกัน

แต่ในปัจจุบันศาลฎีกาได้วางหลักการที่ชัดเจนและเป็นไปเพื่อคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวมากยิ่งขึ้นโดยจะเห็นได้จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8575/2563 และ 3782/2564 ซึ่งวินิจฉัยว่าการบันทึกการสนทนาโดยคู่สนทนาไม่ทราบย่อมเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของคู่สนทนานั้น จึงเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบซึ่งต้องห้ามมิให้รับฟังตามมาตรา 226 ส่วนเหตุยกเว้นตามมาตรา 226/1 นั้น ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง ซึ่งในคดีทั้งสองเป็นคดีหมิ่นประมาทอันเป็นข้อพิพาทของเอกชนและเป็นความผิดอันยอมความได้ พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่ร้ายแรงที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือประโยชน์ของสังคม และยังอยู่ในวิสัยที่จะหาพยานหลักฐานอื่นด้วยวิธีการอันสุจริตมาพิสูจน์ความผิดได้ ดังนั้น การแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบนี้เป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอันขัดต่อหลักการพื้นฐานในการดำเนินคดีอาญาและมิได้เป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมจึงไม่อาจรับฟังได้

ปัจจุบันการแอบบันทึกเสียงสนทนาจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ ต้องพิจารณาว่าเป็นคดีที่กระทบกระเทือนต่อสังคมส่วนรวมและมีน้ำหนักเพียงพอที่จะละเลยสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ หากเป็นคดีทั่วไปที่กระทบเฉพาะเอกชนบางราย ก็อาจถูกห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานในคดีได้

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีอาญา คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีอาญาหรือ จ้างทนายคดีอาญา คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด