คืนรถยังไง ไม่ให้เสียค่าส่วนต่าง

#ทนายเล่าเรื่อง
ผ่อนรถไม่ไหว คืนรถยังไง ให้ไม่ต้องเสียค่าส่วนต่าง

คืนรถยังไง ไม่ให้เสียค่าส่วนต่าง

          #ทนายเล่าเรื่องในวันนี้ เรามากับฎีกาที่กลับคำตัดสินที่เคยออกมาก่อนหน้านี้ในเรื่องการรับผิดในค่าส่วนต่างของรถยนต์ที่เช่าซื้อ ซึ่งเป็นฎีกาที่ใช้เป็นหลักอยู่ในปัจจุบันที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เช่าซื้อและเป็นฎีกาที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก ข้อเท็จจริงของคดีนี้จะเป็นยังไงและเป็นประโยชน์ต่อผู้เช่าซื้ออย่างไร เราไปดูกันเลยครับ

           คดีนี้ นายเจเช่าซื้อรถยนต์กับบริษัทเอฟ มีการทำสัญญาเช่าซื้อกันและตกลงเช่าซื้อกันในราคา 500,000 บาท นายเจวางดาวน์ 100,000 บาท และผ่อนชำระส่วนที่เหลือ เดือนละ 8,000 บาท เป็นเวลา 3 ปี นายเจจ่ายค่าเช่าซื้อมาตลอด 1 ปี แต่พอเข้าปีที่ 2 นายเจประสบปัญหาทางการเงินทำให้ไม่สามารถผ่อนชำระต่อไปได้ และค้างค่าเช่าซื้อมา 2 เดือนแล้ว สุดท้ายนายเจตัดสินใจจ่ายค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระและคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่บริษัทเอฟ แต่ตอนที่คืนกันบริษัทเอฟนำเอกสารฉบับนึงมาให้นายเจเซ็น ซึ่งเป็นเอกสารที่นายเจตกลงว่าถ้าขายทอดตลาดรถยนต์แล้วขาดอยู่เท่าไหร่ จะยอมรับผิดในค่าส่วนต่างนั้น สุดท้ายบริษัทเอฟขายทอดตลาดได้ 300,000 บาท และมาฟ้องเรียกค่าส่วนต่างอีก 200,000 บาทจากนายเจ

             นายเจเข้ามาต่อสู้คดีว่า แม้จะเซ็นเอกสารที่ยอมรับผิดในค่าส่วนต่างก็ตาม แต่นายเจก็จ่ายหนี้ครบแล้วและได้มีการคืนรถยนต์ที่เป็นการเลิกสัญญาแล้ว จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ค่าส่วนต่าง เราไปดูกันดีกว่าครับว่าคดีนี้ ศาลฎีกาจะตัดสินคดีนี้ว่ายังไง

             ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ว่า บริษัทเอฟรับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโดยไม่ปรากฏว่า นายเจทำผิดสัญญาข้อใดหรือมีหนี้ที่ต้องชำระตามสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทเอฟแต่อย่างใด กรณีจึงไม่อาจถือว่า นายเจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 12 ซึ่งนายเจต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดราคาตามสัญญาข้อ 13 เนื่องจากการแสดงเจตนาคืนรถอันจะถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อของผู้เช่าซื้อนั้น ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 12 ระบุว่า “ผู้เช่าซื้อจะเลิกเลิกสัญญาเช่าซื้อในเวลาใดๆ เสียก็ได้ โดยผู้เช่าซื้อจะต้องคืนและส่งมอบรถยนต์… และชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญานี้อยู่ในเวลานั้นทันที…” ดังนั้นต้องปรากฏว่านายเจยังคงมีหนี้หรือเงินที่ต้องชำระตามสัญญาเช่าซื้ออยู่ในขณะที่ส่งมอบรถคืนบริษัทเอฟแต่ เมื่อนายเจไม่มีหนี้ที่ต้องชำระตามสัญญาเช่าซื้อ กรณีดังกล่าวจึงถือว่านายเจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาด้วยการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่บริษัทเอฟ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ระหว่างบริษัทเอฟกับนายเจจึงเป็นอันเลิกกันนับแต่วันที่นายเจส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนบริษัทเอฟ

             เมื่อสัญญาเลิกกันโดยนายเจไม่ได้ทำผิดสัญญา และไม่มีหนี้ที่ต้องรับผิดต่อบริษัทเอฟตามมาตรา 573 ดังกล่าว แม้นายเจได้ตกลงที่จะรับผิดในบรรดาหนี้ค้างชำระ ที่เกิดขึ้นจากการบอกเลิกสัญญาให้แก่บริษัทเอฟตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 13 ตามหนังสือแสดงเจตนาคืนรถของนายเจก็ตาม แต่เอกสารดังกล่าวมิใช่สัญญาเช่าซื้อเป็นเพียงหลักฐานการส่งมอบทรัพย์ที่เช่าซื้อคืนและนายเจซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อรับรองต่อบริษัทเอฟซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อว่า หากบริษัทเอฟนำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขายได้เงินไม่เพียงพอชำระหนี้คงค้างตามสัญญา นายเจจะยอมรับผิดชดใช้ส่วนที่ขาดแก่บริษัทเอฟ ซึ่งเอกสารดังกล่าวหามีผลให้นายเจต้องรับผิดค่าขาดราคาตามที่ระบุไว้ในเอกสารไม่ เพราะกรณีเป็นการรับสภาพหนี้สินว่ามีอยู่ทั้งที่ไม่มี เนื่องจากบริษัทเอฟและนายเจไม่มีมูลหนี้ค่าขาดราคาต่อกันแล้ว จึงไม่มีผลบังคับแก่กันได้ บริษัทเอฟจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดราคาค่าเช่าซื้อตามสัญญาจากนายเจ
              อ้างอิง : ฎ.1203/2565

รวมสาระที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับ #ทนายเล่าเรื่อง มาให้ชมกัน

ติดต่อ ปรึกษาทนาย หรือ จ้างทนาย คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด