การฟ้องแบ่งสินสมรสหลังหย่า มีอายุความหรือไม่ อย่างไร

ถ้าหย่าขาดจากกันแล้ว

           แต่ยังไม่ได้แบ่งสินสมรส

           สามารถฟ้องแบ่งสินสมรสหลังหย่าแล้วได้หรือไม่

การฟ้องแบ่งสินสมรสหลังหย่า มีอายุความหรือไม่ อย่างไร

            การหย่า ไม่ว่าจะเป็นการหย่าด้วยความสมัครใจ ให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่า หรือถ้าหย่าด้วยผลของคำพิพากษา คำพิพากษาส่วนที่บังคับทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้น มีผลย้อนหลังไปถึงวันหย่า

ฟ้องแบ่งสินสมรสหลังหย่า-อายุความ

           ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 เจ้าของรวมคนหนึ่งๆมีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ เว้นแต่จะมีนิติกรรมขัดอยู่ หรือถ้าวัตถุที่ประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวรก็เรียกให้แบ่งไม่ได้

 สิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินนั้น ท่านว่าจะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้
ท่านว่าเจ้าของรวมจะเรียกให้แบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรไม่ได้
ตามปกติเมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสหรือความรับผิดในหนี้ในส่วนเท่ากัน คือ
1. ให้แบ่งกันตามจำนวนที่มีอยู่ในวันฟ้องหย่า ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาหลังวันฟ้องหย่าย่อมตกเป็นของฝ่ายนั้น โดยได้ส่วนแบ่งในสินสมรสเท่าๆกัน
2. หากมีหนี้ร่วมกันในระหว่างเป็นสามีภริยา ความรับผิดในหนี้ร่วมต้องแบ่งตามส่วนเท่ากัน โดยมิต้องคำนึงถึงกองสินส่วนตัว หรือส่วนแบ่งสินสมรสที่ชายหญิงนั้นได้รับไป
3. หากคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจำหน่ายสินสมรสในลักษณะที่ทำให้อีกฝ่ายเสียประโยชน์ หรือโดยไม่ได้รับความยินยอม คู่สมรสฝ่ายที่จำหน่ายจะต้องชดใช้ให้แก่กองสินสมรสเท่ากับจำนวนที่จำหน่ายไป ทำให้จำนวนสินสมรสที่จะนำมาแบ่งคงมีจำนวนเท่าเดิมก่อนการจำหน่าย การชดใช้ดังกล่าวจะชดใช้จากสินสมรสส่วนของตนหรือจากสินส่วนตัวก็ได้

         เว้นแต่ ตกลงเป็นอย่างอื่น แต่สามีภริยาอาจทำข้อตกลงแบ่งสินสมรส โดยไม่แบ่งกันคนละครึ่งก็ได้ เช่น ยกที่ดิน บ้าน รถ ให้อีกฝ่ายแต่ผู้เดียว เป็นต้น
ไม่ว่าจะตกลงหรือไม่ก็ตาม หากหย่าแล้วแต่ยังไม่แบ่งสินสมรส โดยสินสมรสที่ยังไม่ได้แบ่งกันนั้น จะแปลงกลายเป็นกรรมสิทธิ์รวมของทั้งสองฝ่าย ตามประมวล              กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363 โดยการฟ้องบังคับให้แบ่งตามกรรมสิทธิ์ “ไม่มีอายุความ”

         กรณีนี้ ให้ใช้ได้กับชายหญิงที่อยู่ด้วยกัน โดยไม่จดทะเบียนสมรส แต่ต้องการแบ่งทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน อันเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกัน เช่น ซื้อที่ดินโดยมีชื่อร่วมกัน หรือให้เป็นชื่ออีกฝ่าย โดยมีหลักฐานการชำระเงิน อันแสดงถึงความเจ้าของร่วมกัน เป็นต้น
         ส่วนตามมาตรา 1363 วรรคสอง เป็นเรื่องผู้มีกรรมสิทธิ์รวมจะทำนิติกรรมห้ามแบ่งกรรมสิทธิ์รวมได้คราวละไม่เกิน 10 ปี มิใช่เป็นอายุความการฟ้องแบ่งกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด
         เพียงมีข้อสังเกตว่า ไม่ควรฟ้องแบ่งกรรมสิทธิ์ แบ่งทรัพย์สินในเวลาไม่สมควร ตามมาตรา 1363 วรรคสาม เพื่อป้องกันมิให้การแบ่งปันทรัพย์สินในเวลานั้น จะทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของรวมคนอื่นได้
ฉะนั้นแล้ว หากหย่ากันแล้ว แต่ยังไม่ได้แบ่งสินสมรส สามารถฟ้องแบ่งสินสมรสหลังหย่า ได้โดยไม่มีอายุความ

Info - การฟ้องแบ่งสินสมรสหลังหย่า มีอายุความหรือไม่ อย่างไร

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีครอบครัว คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีครอบครัวหรือ จ้างทนายคดีครอบครัว คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด