วิธีตรวจสอบที่ดิน ภบท.5 ทำอย่างไรได้บ้าง

ถ้าที่ดิน ภบท.5 ไม่มีเอกสารสิทธิ
สามารถตรวจสอบว่าที่ดินดังกล่าว
ทับซ้อนกับพื้นที่อื่นได้หรือไม่

วิธีตรวจสอบที่ดิน ภบท.5 ทำอย่างไรได้บ้าง

           ภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท.5) หรือที่เรียกกันว่า ภาษีดอกหญ้า แต่เดิมจะมีการออกเอกสารที่รับรองการเสียภาษีของผู้ที่ครอบครองที่ดินดังกล่าวให้กับหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งมีหน้าที่รับจ่ายเงินภาษีและลงบันทึกไว้ และออกเอกสารที่เรียกว่า ภบท.5 ให้ผู้ชำระภาษีไว้เป็นหลักฐาน แต่ในปัจจุบันมีการเลิกเก็บภาษีดังกล่าว จึงถือว่าเป็นที่ดินมือเปล่า

ภาษีบำรุงท้องที่ (ภบท.5)

           โดยหลักแล้วที่ดิน ภบท.5 ไม่สามารถซื้อขายหรือโอนสิทธิกันได้ เพราะเป็นที่ดินของรัฐ ที่ไม่มีผู้ใดมีสิทธิครอบครองหรือซื้อขายกัน ทำได้เพียงตกทอดให้ทายาท แต่ก็ยังมีการซื้อขายกันเองโดยผู้ครอบครองเดิมแสดงเจตนาสละการครอบครองที่ดิน เพื่อให้ผู้ซื้อเข้าครอบครองแทน ตาม ปพพ.มาตรา 1377 ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครองหรือไม่ยึดถือทรัพย์สินต่อไปไซร้ การครอบครองย่อมสิ้นสุดลง ฉะนั้น ผู้ซื้อกันเองได้เพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น

            เมื่อที่ดิน ภบท.5 เป็นเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น ไม่อยู่ในการรับรองสิทธิโดยกรมที่ดิน จึงมีความเสี่ยงว่าที่ดินอาจเป็นที่ดินของบุคคลอื่นที่ครอบครองอยู่แล้ว ที่ดินสาธารณะ ที่ป่าสงวน ป่าชายเลนหรืออุทยานแห่งชาติ รวมไปถึงที่ดินในเขตทหาร ซึ่งสิทธิในที่ดินอาจหมดไปเมื่อ ทับซ้อนกับพื้นที่ห้ามครอบครองของทางราชการดังกล่าวด้วย

ตรวจสอบที่ดินภบท5

           แม้ที่ดิน ภบท.5 ไม่มีเอกสารสิทธิ ก็ยังมีช่องทางสามารถตรวจสอบว่าที่ดินดังกล่าว ทับซ้อนกับพื้นที่ห้ามครอบครองของทางราชการ หรือบุคคล หรือเอกชนหรือไม่ โดยสามารถตรวจสอบกับกรมที่ดินได้ แต่ก็มีข้อจำกัด เช่น ระวางที่ดินหรือพิกัดที่ได้ระบุไว้ในเอกสาร ภบท.5 มีโอกาสคลาดเคลื่อนสูงมาก เพราะเป็นเพียงการคาดคะเนหรือกะประมาณเนื้อที่ดินไว้คร่าวๆเพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีบำรุงท้องที่เท่านั้น หรือสามารถตรวจสอบกับกรมป่าไม้ ,กรมทหาร ,กรมอุทยาน หรือจากหน่วยงานของรัฐในเขตพื้นที่ใกล้เคียงกับที่ดิน ว่าที่ดิน ภบท.5 ดังกล่าวทับซ้อนหรือไม่ เพราะหากไม่ตรวจสอบแล้ว มีการซื้อขายกันเอง ผู้ซื้อไม่สามารถอ้างอิงเอกสาร ภบท.5 เพื่อใช้ยันกับหน่วยงานของรัฐได้

           ดังนั้น หากยังประสงค์ต้องการซื้อขายที่ดิน ภบท.5 กันเองจริง หลังตรวจสอบที่ดินภบท.5 แล้ว แนะนำให้ทำสัญญาซื้อขายระหว่างกัน เพื่อมีหลักฐานการชำระเงิน รวมถึงรายละเอียดอื่นๆ และควรมีพยานที่เป็นบุคคลในพื้นที่ที่รู้เรื่องที่ดิน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กรรมการ อบต ให้รับรู้รับทราบในการซื้อขายดังกล่าวด้วยครับ

Info - วิธีตรวจสอบที่ดิน ภบท.5 ทำอย่างไรได้บ้าง

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีที่ดิน คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีที่ดินหรือ จ้างทนายคดีที่ดิน คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด