สัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดก คืออะไร และมีลักษณะอย่างไร

#เปิดวิธีการแบ่งมรดก
สัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดก คืออะไร
และมีลักษณะอย่างไร

สัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดก คืออะไร และมีลักษณะอย่างไร

           ถ้าพูดถึงเรื่องการแบ่งมรดก หลายคนอาจจะนึกถึงการแก่งแย่งกันระหว่างทายาทที่ต่างคนต่างก็อยากได้ทรัพย์มรดกให้มากที่สุด แต่นั่นก็ไม่ใช่สำหรับทุกครอบครัว เนื้อหาในวันนี้เราจะมาเล่าให้ฟังในอีกมุมที่ทายาทสามารถตกลงแบ่งมรดกกันได้จนออกมาเป็น สัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกครับ

การแบ่งมรดก

           ในการจะแบ่งมรดกได้ก่อนอื่นก็จะต้องดูก่อนว่า ทายาทที่จะมีสิทธิได้รับมรดกคือชั้นไหน เป็นใครบ้าง และมีกี่คน จากนั้นก็ค่อยไปดูในเรื่องวิธีการแบ่งว่าจะแบ่งกันอย่างไร ซึ่งในเรื่องการแบ่งนั้นเชื่อว่าหลายคนยังไม่รู้ว่าปกติต้องแบ่งกันยังไง แต่เรื่องนี้กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 1750 แล้ว โดยกำหนดไว้ด้วยกัน 3 วิธี
1.ทายาทเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด
2.ขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท
3. ทำเป็นสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดก

สัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดก คืออะไร

             โดยในวันนี้เราจะมาดูกันที่สัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกกันนะครับ โดยสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดก คือ สัญญาที่ทายาทมาตกลงกันว่าทรัพย์มรดกแต่ละชิ้นจะแบ่งกันยังไง ทรัพย์ไหนจะให้กับใคร ซึ่งสามารถตกลงกันให้แตกต่างจากกฎหมายได้ เช่น ทายาทที่เป็นสามีต้องได้มรดก 2 ใน 3 ส่วน ก็สามารถตกลงให้ไม่ถึง 2 ส่วนก็ได้ ถ้าตกลงกันได้อะนะครับ

หลักฐานของสัญญา

              สัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกนี้กฎหมายไม่ได้กำหนดแบบเอาไว้ เพราะฉะนั้น ก็สามารถตกลงกันแบบปากเปล่าได้ สัญญามีผลสมบูรณ์ครับ แต่ถ้าจะฟ้องร้องกันขึ้นมา กฎหมายก็ได้กำหนดว่าจะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือก็จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้
            ดังนั้น ในการทำสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกส่วนใหญ่ก็มักจะทำเป็นหนังสือระหว่างทายาทและให้ทายาททุกคนลงลายมือชื่อในสัญญาฉบับนั้นให้ชัดเจนไปเลย ถ้ามีปัญหาขึ้นมาจริง ๆ หรือทายาทคนไหนไม่ได้รับการแบ่งตามสิทธิในสัญญา ก็สามารถฟ้องขอให้แบ่งโดยอ้างสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกต่อศาลได้เลยครับ

ผลของการทำสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดก

            สัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกนี้ กฎหมายให้นำเรื่องสัญญาประนีประนอมยอมความมาใช้ ซึ่งมีผลเท่ากับว่า ถ้าตกลงกันตามสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกแล้ว ใครมีสิทธิอะไรตามกฎหมายก็จะหมดสิทธินั้นไป จะมามีสิทธิตามที่กำหนดไว้ในสัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ตกลงกันแทนนั่นเอง เพราะฉะนั้น ถ้าตกลงไปแล้ว จะมาเรียกร้องอะไรตามสิทธิเดิมโดยอ้างว่ากฎหมายกำหนดไว้แบบนั้นแบบนี้ไม่ได้แล้วนะครับ

Info - สัญญาแบ่งปันทรัพย์มรดก คืออะไร และมีลักษณะอย่างไร

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีมรดก คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีมรดกหรือ จ้างทนายคดีมรดก คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด