ถ้าฟ้องบังคับจำนองเกิน 10 ปี ผลเป็นอย่างไร

ถ้าศาลพิพากษาแล้ว

ปรากฏว่าเจ้าหนี้ไม่บังคับคดีภายในเวลา 10 ปี

หนี้จำนองย่อมระงับไปหรือไม่

ผลเป็นอย่างไร

ถ้าฟ้องบังคับจำนองเกิน 10 ปี ผลเป็นอย่างไร

         การจำนอง คือ การเอาอสังหาริมทรัพย์ของตนไปจดทะเบียนไว้กับผู้รับจำนอง เพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ ทั้งนี้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง เมื่อมีการจดทะเบียนกันแล้ว ทำให้ผู้รับจำนองเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ คือ มีสิทธิในการบังคับจำนองจากทรัพย์สินที่จำนองได้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นของลูกหนี้ หากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ แล้วเจ้าหนี้ใช้สิทธิทางศาล เมื่อศาลพิพากษาให้เจ้าหนี้ชนะคดีแล้ว เจ้าหนี้สามารถบังคับจำนองได้นั่นเอง

         ตัวอย่างเช่น ลูกหนี้จดทะเบียนจำนองที่ดินให้เจ้าหนี้ แล้วต่อมาลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ หากผู้รับจำนองต้องการยึดทรัพย์ที่จำนอง หรือขายทอดตลาด ผู้รับจำนองต้องฟ้องคดีต่อศาล เมื่อศาลพิพากษาแล้ว หากเจ้าหนี้ต้องการบังคับคดี ให้ตั้งเรื่องบังคับคดีในศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี ตามปวิพ.มาตรา 271 และบังคับคดีภายใน 10 ปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษานั่นเอง โดยต้องตั้งเรื่องให้ทันก่อน 10 ปี หากตั้งเรื่องแล้วบังคับคดีเกิน 10 ปี ก็ไม่มีปัญหาแล้วครับ

บังคับจำนองเกิน 10 ปี ผลเป็นอย่างไร

           ซึ่งการขอบังคับคดีตามปวิพ.มาตรา 274 ระบุว่า เจ้าหนี้มีระยะเวลาบังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องไว้บางส่วนแล้วภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็ให้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิเรียกร้อง หรือบังคับคดีโดยวิธีอื่นนั้นต่อไปจนแล้วเสร็จได้

         ฉะนั้นแล้ว หากเจ้าหนี้ดำเนินการบังคับจำนองเกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา ซึ่งเท่ากับเกินระยะเวลาบังคับคดีที่กฎหมายกำหนดไว้ ทำให้เจ้าหนี้ผู้รับจำนองหมดสิทธิบังคับจำนองตามคำพิพากษานั่นเองครับ คือ จะไปยึดมาขายไม่ได้แล้ว

แนวคำพิพากษาฎีกาที่ 7397/2561

            การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองตามคำพิพากษาไม่บังคับคดีภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นที่สุดในคดีนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) มีผลเพียงทำให้ผู้ร้องหมดสิทธิบังคับคดีในคดีดังกล่าว แต่ไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป ทรัพยสิทธิจำนองยังคงมีอยู่และสามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์สินจำนองนั้นต่อไปได้ แต่ผู้ร้องจะบังคับดอกเบี้ยเกินกว่าห้าปีไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 745

             การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่กระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งอาจร้องขอให้บังคับคดีเหนือทรัพย์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองทรัพย์ที่โจทก์นำยึดและขอให้ขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง มีสิทธิขอกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองดังกล่าวแก่ผู้ร้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) ได้

            สรุปก็คือ ถ้าเจ้าหนี้บังคับจำนองเกิน 10 ปี หลังจากที่ศาลมีคำพิพากษา เป็นผลให้เจ้าหนี้หมดสิทธิที่จะบังคับคดีเอากับทรัพย์ที่จำนอง แต่เจ้าหนี้ยังมีฐานะเป็นเจ้าหนี้จำนองอยู่ ถ้ามีเจ้าหนี้อื่นมาบังคับกับทรัพย์ที่จำนอง เราก็สามารถขอกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดได้ครับ

Info - ถ้าฟ้องบังคับจำนองเกิน 10 ปี ผลเป็นอย่างไร

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีแพ่ง คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีแพ่งหรือ จ้างทนายคดีแพ่ง คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด

บิดาหรือมารดาที่จดทะเบียนกัน จะฟ้องขอปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว ต้องหย่ากันก่อนเท่านั้นหรือไม่

บิดาหรือมารดาที่จดทะเบียนกัน จะฟ้องขอปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว ต้องหย่ากันก่อนเ

อ่านเพิ่มเติม »

ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นความรับผิด