ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดขับไล่

วิธีการขับไล่ของผู้ซื้อจากการขายทอดตลาด

การขับไล่ของบุคคลที่อยู่ในที่ดินหรือทรัพย์ของตนตามกฎหมายได้คือ การตั้งเรื่องในลักษณะการฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้ศาลพิพากษาขับไล่และอาจมีการเรียกค่าเสียหายในการอยู่ในทรัพย์ของตนได้ลักษณะเป็นทรัพย์ที่อาจเช่าได้เป็นรายเดือนจนกว่าจำเลยจะออกจากที่ดินหรือทรัพย์ของตนได้ แต่ที่ดินหรือทรัพย์ที่มีการได้มาจากการขายทอดตลาดตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลนั้น ผู้ซื้อทรัพย์มีวิธีการขับไล่ต่างไปจากกรณีปกติดังนี้

ขับไล่

เมื่อซื้อทรัพย์อสังหาริมทรัพย์(เช่นที่ดิน,บ้านพร้อมที่ดินหรือคอนโดฯลฯ)จากการขายทอดตลาดโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี หากปรากฏว่าหลังจากได้โอนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวปรากฎว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารของลูกหนี้ยังคงอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว กฎหมายได้กำหนดขั้นตอนดำเนินการขับไล่ไว้เป็นพิเศษโดยไม่ต้องดำเนินการฟ้องคดีโดยมีขั้นตอนการดำเนินการตามลำดับดังต่อไปนี้

วิธีการขับไล่ของผู้ซื้อจากการขายทอดตลาด

  1. ให้ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่เพื่อให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับลูกหนี้ตามคำพิพากษาและบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้น และตามกฎหมายถือว่าผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดนี้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
  2. นำคำสั่งหรือหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ตั้งเรื่องกับเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ เพื่อดำเนินการขับไล่
  3. หากอสังหาริมทรัพย์นั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีตรวจสอบแล้วไม่มีผู้ใดอาศัย เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งมอบการครอบครองให้ผู้ซื้อทรัพย์ต่อไป
    แต่หากมีลูกหนี้ตามคำพิพากษาและบริวาร เจ้าพนักงานบังคับคดีจะดำเนินการแจ้งต่อศาลให้มีคำสั่งจับกุมและกักขังโดยการออกเป็นลักษณะหมายจับ
  4. ผู้ซื้อทรัพย์ดำเนินการจับกุมลูกหนี้และบริวารผู้มีชื่อตามหมายจับ โดยการจับและกักขังควรทำโดยเจ้าหน้าที่บ้านเมือง (เช่น ตำรวจ ฯลฯ) และดำเนินการเพียงเพื่อบังคับคดีอันทำให้เข้าครอบครองทรัพย์เท่านั้น
    และเมื่อไม่มีผู้ใดอยู่อาศัย ผู้ซื้อทรัพย์จะรายงานต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับตรวจสอบและส่งมอบการครอบครองทรัพย์ให้ผู้ซื้อทรัพย์ต่อไป (รายละเอียดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 334)

ตามที่กล่าวมาเป็นกรณีขับไล่พิเศษเพื่อเป็นการให้ความสะดวกและจูงใจให้มีการซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดในการบังคับคดี จึงเป็นเหตุที่อาจทำให้การขายทอดตลาดในปัจจุบันมีความน่าสนใจมากขึ้น นอกจากในเรื่องของราคาที่ถูกพอสมควร

โดยนอกจากผู้ซื้อทรัพย์จะสามารถขอให้ขับไล่ได้ในกรณีพิเศษนี้ ผู้ซื้อทรัพย์สามารถเรียกค่าเสียหายจากการที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ของตนได้ แต่ต้องเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเป้นคดีใหม่ต่างหากจากการร้องขอขับไล่ตามกรณีพิเศษนี้ (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 5997/2555)

แต่หากทรัพย์ที่ซื้อนั้น มีบุคคลใดอยู่โดยที่บุคคลนั้นไม่ใช่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว การดำเนินการขับไล่คงต้องเป็นการดำเนินการในลักษณะทางคดีคือการฟ้องขับไล่ และเรียกค่าเสียหายไป เหมือนกรณีทั่วไปที่ขับไล่ผู้ที่อยู่ในทรัพย์ของตน

ขอบคุณที่ติดตาม และหากบทความนี้มีประโยชน์แก่บุคคลใดโปรดแชร์เพื่อเป็นความรู้ต่อไป

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีที่ดิน คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีที่ดินหรือ จ้างทนายคดีที่ดิน คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด