คดีอุทลุม

คดีอุทลุม คืออะไร

คำว่าอุทลุม ตามความหมายในพจนานุกรม หมายถึง ผิดประเพณี, ผิดธรรมะ, นอกแบบ, นอกทาง ส่วนคำว่า คดีอุทลุม คือคดีที่ลูกหลานฟ้องบุพการีของตนต่อศาล และเรียกลูกหลานที่ฟ้องบุพการีของตนต่อศาล ว่า คนอุทลุม

โดยตามกฎหมายไทยถือเรื่องการที่ลูกหลานจะฟ้องบิดามารดาและบุพการีเป็นอย่างมาก จึงได้กำหนดคดีอุทลุมประเภทนี้ไว้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้”

คดีอุทลุม กฎหมายมาตรา 1562

จากหลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 กำหนดไว้นั้น กำหนดห้ามมิให้ฟ้องถึงบุพการี ซึ่งมิใช่แต่บิดามารดาตามกฎหมายเท่านั้น แต่หมายถึง ห้ามฟ้องทั้ง บิดา มารดา ปู่ย่า ตายาย และทวด ที่สืบสายโลหิต และเป็นบุพการีโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 547/2548) ฉะนั้น ไม่หมายความรวมถึงกรณีที่บุตรบุญธรรมจะฟ้องบุพการีบุญธรรมของตน (ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 294/2538)

การห้ามมิให้ฟ้องบุพการีของตนในคดีอุทลุมนั้น เป็นห้ามฟ้องในทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา โดยการห้ามฟ้องนั้นตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกานั้น พยายามตีความมาตรานี้อย่างเคร่งครัด ฉะนั้น การห้ามฟ้องบุพการีในคดีแพ่งและคดีอาญา ต้องเป็นคดีที่ฟ้องให้รับผิดต่อกันในทางส่วนตัว เช่นการฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้จัดการมรดก เป็นกรณีพิพาทระหว่างโจทก์กับกองมรดกของผู้ตาย จึงไม่ใช่คดีอุทลุม (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1642/2534), กรณีฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงฟ้องจำเลยในฐานะที่โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท และจำเลยในฐานะที่เป็นกรรมการของบริษัท (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 823/2550) เป็นต้น

ส่วนการเด็กเป็นผู้เยาว์อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปฟ้องขอให้รับเป็นบุตรและฟ้องขอค่าเลี้ยงดูด้วยนั้นตามกฎหมาย ยังไม่ใช่คดีอุทลุม เนื่องจาก ณ ขณะเด็กผู้เยาว์ฟ้องนั้น บิดายังไม่ใช่บุพการีโดยชอบด้วยกฎหมาย(ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 547/2548)

เมื่อคดีใดเป็นคดีอุทลุมแล้ว คดีนั้นจึงมีผลที่ไม่สามารถฟ้องได้เฉพาะจำเลยที่เป็นบุพการีเท่านั้น หาได้มีผลถึงจำเลยอื่นไม่ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3651/2549)

ส่วนทางแก้ในคดีอุทลุมนั้น หากต้องการฟ้องบุพการีจริง ผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอต่อพนักงานอัยการ ซึ่งได้แก่สำนักงานอัยการฝ่ายคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน เพื่อให้ทางพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นให้ต่อไป

ขอบคุณที่ติดตาม หากบทความนี้มีประโยชน์โปรดแชร์เพื่อเป็นความรู้ต่อไป

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีครอบครัว คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีครอบครัวหรือ จ้างทนายคดีครอบครัว คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด