สัญญาหย่า

สัญญาหย่า คือ

เมื่อคู่สมรสไม่ประสงค์จะอยู่กินกันฉันท์สามีภริยาด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม หากตกลงกันได้ที่จะทำการหย่า คู่สมรสทั้งสองฝ่ายก็สามารถทำสัญญาหย่าและนำสัญญาดังกล่าวไปจดทะเบียนหย่าที่งานทะเบียนราษฎร์ได้ ซึ่งการหย่าโดยสมัครใจนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 ทั้งนี้การหย่าโดยสมัครใจดังกล่าวนั้น จะต้องไม่เป็นกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสัญชาติซึ่งกฎหมายในสัญชาตินั้นบังคับให้หย่าโดยจำต้องใช้อำนาจทางศาล หรือกฎหมายในสัญชาตินั้นห้ามหย่า โดยเป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย มาตรา 26 และมาตรา 27

สัญญาหย่าหรือข้อตกลงการหย่า (Divorce Agreement) เป็นนิติกรรมอย่างหนึ่งที่ผูกพันคู่สัญญา โดยมีสภาพบังคับสำคัญ กล่าวคือ มีการแสดงเจตนาโดยสมัครใจทั้งสองฝ่ายที่ต้องการหย่า อำนาจการปกครองบุตร ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ทรัพย์สิน และหนี้สิน ตลอดจนอาจมีข้อกำหนดอื่นใดตามที่ตกลงกันภายใต้กฎหมายให้อำนาจพึงกระทำได้ และต้องมีพยานอย่างน้อยสองคนที่รู้เห็นการทำสัญญานี้ โดยพยานไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ ณ ขณะคู่สัญญาได้ลงลายมือชื่อก็ได้ แต่จะต้องรู้เห็นถึงการเข้าทำสัญญานี้จริง

เมื่อมีสัญญาหย่ากันเรียบร้อยแล้ว หากภายหลังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมไปจดทะเบียนหย่า อีกฝ่ายก็สามารถนำสัญญาหย่านี้ฟ้องต่อศาล โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาเหตุหย่าตามกฎหมายในข้างต้น โดยสามารถฟ้องให้ศาลมีคำสั่งให้หย่า และฟ้องบังคับให้คู่สัญญาปฏิบัติเรื่องอื่นใดในสัญญาหย่าด้วยก็ได้

สัญญาหลังจากหย่า

หากคู่สัญญาได้ไปหย่าแล้วตามสัญญา มีการส่งเสียเลี้ยงดูบุตรในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ภายหลังได้เพิกเฉยไม่จ่ายค่าเลี้ยงดูแต่อย่างใด อีกฝ่ายก็สามารถนำเอาสัญญาดังกล่าวมาร้องต่อศาลให้บังคับได้ ซึ่งการเลี้ยงดูบุตรนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1565 ได้วางหลักไว้ว่า บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูแลให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วแต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ จึงเห็นได้ว่าการเลี้ยงดูบุตร ย่อมเป็นหน้าที่ของบิดามารดา แม้ภายหลังมีการหย่าร้าง แต่หน้าที่ของบิดามารดาย่อมไม่หมดไป

ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างสามีภริยา หรือระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้นย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ ค่าอุปการะเลี้ยงดูนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณี ภายหลังเมื่อพฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไป ศาลจะสั่งแก้ไขในเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูโดยให้เพิกถอน ลด เพิ่ม หรือกลับให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกก็ได้

ทั้งนี้ กรณีที่นำเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่นก่อน โดยไม่เหลือเงินมาเลี้ยงดูบุตรเลย หากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการใช้จ่ายดังกล่าวมิได้มีความสำคัญไปกว่าการเลี้ยงดูบุตรนั้น ย่อมไม่อาจนำความจำเป็นดังกล่าวมาอ้างเพื่อขอหักกลบลบหนี้ที่ตนมีหน้าที่ต้องชำระค่าเลี้ยงดูได้

บทความกฎหมายล่าสุด