ข้อแตกต่าง ทรัพยสิทธิกับบุคคลสิทธิ

ทรัพยสิทธิ คือ

ทรัพยสิทธิ หมายถึง สิทธิมีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สิน หรือสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สิน เป็นสิทธิที่จะบังคับเอาแต่ทรัพย์สินโดยตรง เช่น สิทธิทั้งหมดที่บัญญัติเป็นกฎหมายได้แก่ กรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง ภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกิน สิทธิเหนือพื้นดิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิจำนอง สิทธิจำนำ เป็นต้น

สิทธิเหล่านี้เป็นสิทธิที่ใช้ยันต่อบุคคลได้ทั่วไป เช่น เรามีกรรมสิทธิ์ในปากกาเราจำทำอะไรกับปากกาของเราก็ได้ อาจขายหรือให้ใครหรือทำลายเสียก็ได้ ถ้ามีคนขโมยไปก็มีสิทธิติดตามเอาคืน

บุคคลสิทธิ คือ

บุคคลสิทธิ หมายถึง สิทธิที่มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นการกระทำหรืองดเว้นการกระทำ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นสิทธิที่มีอยู่เหนือบุคคล ซึ่งในเรื่องหนี้ เรียกว่า สิทธิเรียกร้อง เช่นสิทธิที่เกิดจากสัญญา ละเมิด ลาภมิควรได้ จัดการงานนอกสั่ง

ตัวอย่าง ก ทำสัญญาจะขายที่ดินให้ ข แต่ แล้วกลับไปโอนขายให้ ค ดังนี้ ข จะบังคับให้ ค โอนที่ดินคืนให้ตนหาได้ไม่ ข มีสิทธิเพียงจะบังคับเรียกค่าสินไหมทดแทนจาก ก

ข้อแตกต่างระหว่างทรัพยสิทธิกับบุคคลสิทธิ

1. ทรัพยสิทธิมีวัตถุแห่งสิทธิเป็นทรัพย์สินโดยตรง เช่น ผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินใด ย่อมชอบที่จะใช้สอย จำหน่ายได้ดอกผล ติดตามเอาทรัพย์สินคืน และขัดขวางมิให้ผู้ใดสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้รับจำนองย่อมมีสิทธิบังคับจำนองเอาจากตัวทรัพย์ที่จำนองได้เสมอ ไม่ว่าทรัพย์นั้นจะตกไปอยู่ที่ใด

บุคคลสิทธิ มีวัตถุแห่งสิทธิเป็นการกระทำหรืองดเว้นการกระทำ เช่นสิทธิตามสัญญาจ้างทำของย่อมก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ว่าจ้างที่จะบังคับให้ผู้รับจ้างทำของนั้นให้แก่ตน

2. ทรัพยสิทธิจะเกิดขึ้นได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจของกฎหมายเท่านั้น กรรมสิทธิ์ สิทธิอาศัย ภาระจำยอม และสิทธิอื่นๆ สิทธิยึดหน่วง บุริมสิทธิ จำนองและจำนำ เกิดขึ้นได้ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้อำนาจไว้ ลิขสิทธิ์เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์

บุคคลสิทธิย่อมเกินขึ้นได้โดยนิติกรรม เช่นทำสัญญาซื้อขายทรัพย์ ทำสัญญาเช่า ให้กู้ยืมเงิน หรือเกิดขึ้นโดยนิติเหตุ เช่นเมื่อมีการละเมิดเกิดขึ้น ผู้ถูกละเมิดย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้ทำละเมิดได้

3. ทรัพย์สิทธิก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลทั่วไป คือบุคคลอื่นใดก็ตามมีหน้าที่ต้องงดเว้นไม่ขัดขวางต่อการใช้ทรัพยสิทธิของเจ้าของทรัพย์สิทธิ เช่นภารจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน จำนองตกติดไปกับทรัพย์เสมอ ไม่ว่าผู้ใดจะได้ทรัพย์ภายใต้ทรัพยสิทธิเหล่านี้ไปก็ต้องยอมรับรู้ทรัพย์สิทธิเหล่านี้ จะขัดขวางหรือไม่ยอมให้ผฟุ้ทรงทรัพยสิทธิใช้สอยหรือบังคับสิทธินั้นหาได้ไม่

บุคคลสิทธิก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลโดยเฉพาะเจาะจงเท่านั้น กล่าวคือคู่สัญญา ทายาทหรือผู้สืบสิทธิของคู่สัญญาเท่านั้นที่มีหน้าที่กระทำหรืองดเว้นการกระทำการตามสัญญา หรือในเรื่องละเมิดก่อให้เกิดหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะแก่ผู้ทำละเมิดเท่านั้น

4.ทรัพยสิทธิมีลักษณะคงทนถาวรและไม่หมดสิ้นไปโดยการไม่ใช้ เช่นกรรมสิทธิ์ แม้จะไม่ใช้นานเท่าใด ก็ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์อยู่ หาสูญสิ้นไปไม่ หรือจำนองย่องตกติดไปกับทรัพย์ที่จำนองเสมอ ส่วนการที่มีผู้อื่นมาแย่งการครองครอบและได้กรรมสิทธิ์ นั้นเป็นเรื่องได้กรรมสิทธิ์ไป เพราะผลแห่งการแย่งการครอบครอง หาใช่กรรมสิทธิ์ได้สูญสิ้นไปเพราะการไม่ใช้

บุคคลสิทธิมีลักษณะไม่ถาวร และย่อมสิ้นไปถ้ามิได้ใช้สิทธินี้ภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ กำหนดเวลานี้เรียกว่า อายุความ สิทธิเรียกร้องใดๆถ้ามิได้ใช้บังคับภายระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ

บทความกฎหมายล่าสุด