เลิกสัญญา

เลิกสัญญา

ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งผิดสัญญา เราจะสามารถเลิกสัญญาได้เลยหรือเปล่า หรือเราต้องทำอะไรก่อนไหม ค่อนข้างเป็นคำถามที่พบได้ค่อนข้างบ่อยนะครับ วันนี้เราก็จะพาทุกคนไปดูว่าถ้าเราจะเลิกสัญญา เราต้องทำอะไรบ้างและเราต้องดูอะไรก่อน อะไรหลังครับ

1. ข้อตกลงในสัญญา

          ในการทำสัญญาขึ้นมานั้นแน่นอนว่าจะมีข้อตกลงที่ตกลงกันไว้มากมายครับ แต่ก็จะมีข้อตกลงในส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของเราในวันนี้ คือ ข้อตกลงเรื่องการเลิกสัญญาครับ เรียกได้ว่าเป็นข้อตกลงพื้นฐานของทุกสัญญาที่จะต้องมี ดังนั้นในอันดับแรกเราจะต้องไปดูที่ตัวสัญญากันก่อนครับว่ากำหนดเหตุในการเลิกสัญญาไว้หรือไม่ ถ้าในสัญญากำหนดไว้ก็เป็นไปตามที่สัญญากำหนดครับ 

          หากในสัญญากำหนดเหตุในการเลิกสัญญาเอาไว้ แล้วเหตุนั้นเกิดขึ้น ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็จะมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาได้ แต่หากเหตุที่เกิดขึ้นไม่เข้าเหตุที่กำหนดไว้ในสัญญา หรือในสัญญาไม่ได้กำหนดเหตุเอาไว้ ขั้นต่อไปเราก็ต้องไปดูในกฎหมายครับ

2. กฎหมายเฉพาะของสัญญานั้น

          ตามกฎหมายมีการบัญญัติเรื่องการเลิกสัญญากันไว้ซึ่งเราจะต้องไปดูที่กฎหมายเฉพาะของสัญญานั้นก่อน เช่น หากสัญญาที่ทำกันเป็นสัญญาเช่า เราก็ต้องไปดูกฎหมายในเรื่องสัญญาเช่าที่เป็นกฎหมายเฉพาะก่อนว่ากำหนดเรื่องการเลิกสัญญาไว้อย่างไร ก็ให้เป็นไปตามนั้น แต่หากกฎหมายเฉพาะในเรื่องนั้นๆ ไม่ได้มีการกำหนดเรื่องการเลิกสัญญาเอาไว้ เราก็จะต้องกลับไปดูที่หลักทั่วไปในเรื่องการเลิกสัญญาครับ

3. หลักทั่วไปในการเลิกสัญญา

หลักทั่วไปในเรื่องการเลิกสัญญาจะมีการบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 387 – 389 ดังนี้

      1. มาตรา 387 คือกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้ฝ่ายนั้นมาชำระหนี้ก่อน คือจะเลิกสัญญาเลยไม่ได้ ต้องกำหนดระยะเวลาให้เขามาชำระหนี้อีกครั้ง หากฝ่ายที่ไม่ชำระหนี้นั้นยังคงไม่ชำระหนี้อีก อีกฝ่ายหนึ่งถึงจะมีสิทธิเลิกสัญญาได้ครับ

     2. มาตรา 388 คือกรณีที่หนี้นั้นมีกำหนดระยะเวลาเป็นสำคัญ คือจะต้องชำระหนี้ภายในกำหนดเท่านั้น หากเลยกำหนดระยะเวลาไปแล้ว การชำระหนี้นั้นก็จะไร้ประโยชน์แก่เจ้าหนี้ เช่น สั่งตัดชุดแต่งงาน คือก็ต้องใช้ชุดในวันที่จัดงานแต่งงาน หากส่งมอบชุดให้หลังวันแต่งงาน ชุดนั้นก็ไม่มีประโยชน์แล้วเพราะเขาต้องการใช้ในวันงาน ดังนั้นกรณีแบบนี้ที่มีกำหนดระยะเวลาเป็นสำคัญแล้วฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลานั้น อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องบอกกล่าวก่อนเหมือนการเลิกสัญญาตามมาตรา 387 ครับ

     3. มาตรา 389 คือกรณีที่การชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่ง

เป็นเพราะลูกหนี้ เช่น ตกลงทำสัญญาซื้อขายรถยนต์กัน ก่อนวันส่งมอบ 1 วันลูกหนี้เอารถไปขับโดยประมาทจนเสียหลักรถชนเสาไฟฟ้า รถไหม้ทั้งคัน แบบนี้เท่ากับการชำระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอันจะโทษลูกหนี้ได้ เจ้าหนี้ก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ครับ

อ่านบทความเพิ่มเติม คดีแพ่ง คลิก!

ติดต่อ ปรึกษาทนายคดีแพ่งหรือ จ้างทนายคดีแพ่ง คลิก!

บทความกฎหมายล่าสุด